Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

คุณค่าของหัสนิยายสามเกลอ




ที่มา: จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 4 มกราคม 2541 หน้า 11 คอลัมน์คลื่นความคิด
โดย: พิสิฐ ภูศรี
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster สมาชิกหมายเลข 00001

เมื่อเอ่ยถึง ป. อินทรปาลิต ก็มีนัยประหวัดไปถึงนิยายสามเกลอพล นิกร กิมหงวน อยู่แล้ว แต่เนื่องจาก ป. อินทรปาลิต มีผลงานแนวอื่นนอกเหนือจากนิยายสามเกลออีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้เขียนก็ได้อ่านบ้างประปราย นิยายแนวบู๊-รักโศก เช่น นักรียนนายร้อย เสือใบ เสือดำ ฯลฯ ผู้เขียนอ่านแล้วไม่ต้องใจเหมือนสามเกลอ จึงขอขมวดประเด็นที่จะกล่าวถึงอยู่แค่ "หัสนิยายสามเกลอ" ซึ่งเป็นผลงานที่เปรียบเสมือน "ตัวตน" ของ ป. อินทรปาลิต และมีคุณค่าในเนื้องานให้กล่าวถึงได้มากมาย

แยกแยะออกเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

1. อารมณ์ขัน อันนี้ของตายอยู่แล้ว ใครอ่านสามเกลอก็ต้องหัวเราะ ยกเว้นไปอ่านตอนญาติเสีย แต่การจะทำให้คน(อื่น)หัวเราะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์กันพอสมควร ตัว ป. อินทรปาลิต เองก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่ม เพราะสามเกลอยุคแรกหนักไปทางทะลึ่งตึงตัง จงใจใส่ภาษาชวนหัวแทบทุกบรรทัดจนขำฝืด มาลงตัวเอาตอนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ ป. อินทรปาลิตรู้ว่าจะ "เน้น" และ "ปล่อย" มุขเด็ดอย่างไรถึงจะขำกลิ้ง สามเกลอนับจากช่วงนี้ได้รับการยกย่องว่ามีอารมณ์ขันระดับ "คลาสสิค"

2. เป็นโรงเรียนนักเขียน นัก(อยาก)เขียนทั้งหลายไม่ควรมองข้ามนิยายสามเกลอ เพราะมี "แบบเรียน", "แบบฝึกหัด" และ "คำเฉลย" ดีๆ ให้ศึกษาได้มากมาย

2.1) วิธีการดำเนินเรื่อง นับตั้งแต่มีโครงเรื่องชัดเจน: การขึ้นเรื่อง - เดินเรื่อง - จบเรื่อง ก็ทำได้อย่างลงตัว ที่น่าศึกษาที่สุดคือวิธีการ "เดินเรื่อง" ให้ลื่นไหลไม่ติดขัด ป. อินทรปาลิต มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ...คนหนึ่งพูดอย่างนี้ - อีกคนจะต้องตอบว่าอย่างไร หรือบรรยายจบย่อหน้านี้แล้ว ย่อหน้าใหม่ควรจะเปลี่ยนเป็นบทสนทนาหรือจะบรรยายต่อไปอีก

2.2) การทำให้ตัวละครมีชีวิต. อินทรปาลิต สามารถทำให้ผู้อ่านนึกถึงภาพออกว่า - เจ้าคุณปัจจนึก พล นิกร กิมหงวน ดร. ดิเรก หรืออ้ายแห้ว มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร นี่คือสุดยอดวิชาการประพันธ์ วิธีการก็ดูจะไม่ยากเย็นอะไร คือสร้าง "บุคลิกเฉพาะ" ให้ตัวละคร ซึ่งไม่ใช่ว่า "สร้าง" ได้ด้วยการบอกคุณลักษณะของตัวละครออกไปโต้งๆ...ชื่ออะไร - อายุเท่าไร - สูงต่ำดำขาวขนาดไหน ฯลฯ เคล็ด(ไม่)ลับของ ป. อินทรปาลิต คือสร้างบุคลิกเฉพาะของตัวละครผ่านรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นสำนวนการพูด การแสดงออกทางอารมณ์ความคิด กิริยาท่าทางที่แตกต่างกัน

2.3) การใช้ภาษา. อินทรปาลิตจัดได้ว่าเป็น "นายของภาษา" คนหนึ่ง ใช้สำนวนภาษาได้กระชับลงตัว ไม่เยิ่นเย้อวกไปเวียนมา นักเขียนใหม่บางคน (หรือนักเขียนเก่าก็ตามที) มักจะมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะกว่าจะเขียนให้ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ ก็ต้องหาคำมาใส่จนยาวเฟื้อยเป็นรถไฟสายใต้ มิพักต้องคอยระมัดระวังเรื่องเอกรรถประโยค - อเนกรรถประโยคอีกต่างหาก

ในนิยายสามเกลอ ป. อินทรปาลิตได้สร้างภาษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้มากมาย ใครจะรู้ว่าสำนวน "อมยิ้ม" ซึ่งใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เกิดมาจากมันสมองและปลายปากกาของ ป. อินทรปาลิต

หากเปรียบว่า "ภาษา" เป็น "อาวุธ" ของนักเขียน (ทุกคน) เหล่านักเขียนผู้เป็นนายของภาษา (ดังที่เอ่ยนามมานั้น) นอกจากจะใช้อาวุธปกติได้คล่องแคล่วแล้ว ยังมี "อาวุธลับ" ประจำตัว คือมีสำนวนภาษาเป็นเลิศ เท่าที่ผู้เขียนติดตามผลงานของท่านเหล่านั้นมา การใช้ "อาวุธลับ" จะเน้นหนักไปที่ "กริยาวิเศษณ์" คือหาคำมาขยายรูปศัพท์กริยา เพื่อให้เห็นภาพพจน์ชัดเจน คำกริยาทั่วๆ ไป เช่นพูด ยิ้ม เดิน นอน นั่ง ฯลฯ หากเขียนออกมาพื้นๆ เขายิ้ม - เขาพูด - เขาเดิน อ่านแล้วก็ไม่เกิดจินตนาการ แต่หากเพิ่มเติมเป็น เขายิ้มแห้งๆ - เขาพูดเนือยๆ - เขาพูดด้วยใบหน้าซ่อนยิ้ม...ผู้อ่านจะรับรู้อารมณ์ของตัวละครได้ทันที

. อินทรปาลิตมีความสามารถในการใช้กริยาวิเศษณ์ (ตามที่ยกตัวอย่างมาให้เห็น) กล้าคิดกล้าใช้ด้วยความมั่นใจ ไม่กังวลกับกรอบทางภาษา ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนจะไม่ให้ความสำคัญว่าตนเป็น "เจ้าของคำ" คิดไปเขียนไปเรื่อยๆ เปื่อยๆ ราวกับมันมีอยู่ในโลกมานานแล้ว

มีแต่คำว่า "ม่องเท่ง" กับ "เท่งทึง" กระมังที่ ป.อินทรปาลิต เคยอธิบายความว่า หมายถึง "ตาย" (มาจากเสียงปี่พาทย์บรรเลงในงานศพ)

คำที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ ป. อินทรปาลิต คือคำว่า "เชย" ความจริงไม่ใช่สำนวนแต่เป็นชื่อคน - ลุงเชย ญาติผู้ใหญ่ของสามเกลอ ซึ่งมีบุคลิกเปิ่นเทิ่น ไม่ทันสมัย... บทบาทของลุงเชยทำให้ผู้อ่านติดอกติดใจ กลายเป็นคำแสลง "เชย" มาจนเท่าทุกวันนี้

นี่คืออำนาจวรรณกรรม !!!

3. จินตนการไร้ขีดจำกัด ตัวละครสามเกลอพาตัวเองเข้าไปยุ่งได้ทุกเรื่อง ซึ่งมองเผินๆ ก็เป็นธรรมดาของ "เรื่องแต่ง" ผู้ประพันธ์จะเสกสรรปั้นแต่งไปอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งแล้ว เป็นไปได้ยากมากที่ผู้อ่านจะยอมรับ "ความลวง" ได้ในทุกกรณี

มี "เรื่องแต่งที่ไม่มีทางเป็นจริง" อยู่เพียงไม่กี่เรื่องในโลก ที่ผู้อ่านยอมรับได้ทั้งที่ไม่เชื่อ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่า ผู้แต่งสามารถสร้าง "ข้อตกลง" ไว้กับผู้อ่านได้ดีขนาดไหน

ซุปเปอร์แมนเหาะเหินเดินอากาศได้ มีพละกำลังเหนือมนุษย์ เพราะมันมาจากดาวคริปตัน

พลพรรคสามเกลอก็เช่นเดียวกัน ที่ทำอะไรก็ได้ - เป็นอะไรก็ได้...เพราะรวย

4. มีความคิดก้าวหน้า พูดให้เท่ๆ ก็ต้องบอกว่า หัสนิยายสามเกลอเป็น "วรรณกรรมเพื่อชีวิต"

. อินทรปาลิต จะสอดใส่ความคิดของตนลงไปในเรื่อง ความคิดนั้นเปี่ยมด้วยวิญญาณของขบถเสรีชน ผู้ไม่ยอมสยบต่ออำนาจรัฐ ความเชื่อ และค่านิยมเก่าๆ

. อินทรปาลิต นำมาเสนอในรูปแบบเสียดเย้ย - ล้อเลียน ซึ่งวิธีการนี้กำลังเป็นที่นิยมของนักเขียนเพื่อชีวิต "แนวใหม่" ในปัจจุบัน แต่ ป. อินทรปาลิต เคยทำมาก่อนแล้ว

ผู้มีอำนาจจะโง่เง่า ไม่เข้าใจวิธีการนี้ คิดว่ามันเป็นแค่เรื่องขำขัน - เรื่องอ่านเล่น - เป็นการ์ตูน

กรณีสังหาร 4 รัฐมนตรี ป. อินทรปาลิต เอามาเขียนล้ออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะประโยคที่ว่า - ไปบางเขน (ย้ายที่คุมขังไปโรงพักบางเขนกลางดึก แล้วมีโจรมลายูยิงถล่มกลางทาง ผู้ต้องหา 4 รัฐมนตรีตายเรียบ ส่วนตำรวจผู้ควบคุมไม่เป็นอะไรเลย)

ความคิดต่อต้านสงครามในตอน "ไปเกาหลี" สามเกลอสมัครไปรบเกาหลี แต่ด่าสงสารทั้งเรื่อง

กระแหนะกระแหน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่นำประเทศไทยเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้ประเทศชาติหายนะ ตัดทอนอักษรไทยจนภาษาวิบัติ รวมไปถึงขบวนการ "รัฐนิยม" บ้าๆ บอๆ (อย่างเดียวกับ ไทยช่วยไทย กินของไทย...กินผัดไทย ไม่กินขนมจีน - กล้วยแขก - ลอดช่องสิงคโปร์...ในยุคนี้ละกระมัง)

เกลียดชังประเพณีเรียกสินสอดทองหมั้นก่อนแต่งงาน ซึ่งที่จริงก็คือวิธีขายลูกสาวเราดีๆ นี่เอง คุณหลวงสติเฟื่องรายหนึ่ง จึงติดประกาศ "ขายลูกสาว" ไปตรงๆ ไม่ต้องมาเสียเวลากระมิดกระเมี้ยน ยกประเพณีบังหน้า

รังเกียจพวกที่บูชาเงินเป็นพระเจ้า โดยให้อาเสี่ยกิมหงวนแสดงการ "ฉีกเงิน" อวดรวยอยู่เรื่อย ป. อินทรปาลิตเล่นแรงมาก เพราะแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เห็นว่าเงินเป็น "ของสูง" ไม่ควรแสดงกิริยาลบหลู่ดูหมิ่น - เดี๋ยวเงินจะไม่เข้ามาหา

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าความคิดเชิง "เสรีนิยม" ที่ว่านี้ มาปรากฎเด่นชัดในผลงานช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

5. เป็นบันทึกทางสังคม บทบาทของสามเกลอมักเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์และเรื่องราวในปัจจุบัน (สมัยที่เขียน) แม้จะไม่ใช่รายงานทางประวัติศาสตร์ที่มีข้อมูลครบถ้วนสมบรูณ์ แต่ก็พอจะทำให้ผู้คนในยุคต่อมามองเห็น "ภาพ" ในอดีตได้อย่างชัดเจน

เหตุการณ์วันรับเสด็จ - งานรัฐธรรมนูญ (เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว) - มวยนัดสำคัญ - คดีดังในอดีต - แฟชั่นการแต่งกาย รถ บ้าน ย่านบันเทิง ฯลฯ แทบจะทุกความเป็นไปในสังคมที่ ป. อินทรปาลิต ได้ "บันทึก" เอาไว้

การแสวงหาความรื่นรมย์ของ "ผู้มีอันจะกิน" ในยุคนั้น ป. อินทรปาลิต บรรยายไว้อย่างหรูเลิศ...ต้องไปเที่ยวเบียร์ฮอลล์ ไปเต้นรำบางปู ไปชมภาพยนตร์ ไปฟังดนตรีสุนทราภรณ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นความอีลุ่ยฉุยแฉกขั้นสูงสุดของท่านมหาเศรษฐียุคนั้น ไม่มีมากไปกว่านี้

วัฒนธรรม "รวมญาต" อย่างของ "บ้านพัชราภรณ์" (ในเรื่อง) ก็แทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย

ลักษณะทางชนชั้นในสมัยนั้นก็มองเห็นได้ชัดเจน การจำแนกชนชั้นสูง - กลาง - ต่ำ จะแตกต่างกันไป ตามชาติตระกูล ศักดินา และการศึกษา เห็นได้ชัดว่า "เงิน" ยังไม่ใช่ตัวกำหนดคุณค่าและคุณภาพของคน ดูจากภาพพจน์ของพ่อค้าต่างด้าว (จีน แขก ฝรั่ง) ถึงจะรวยสักเพียงไหน ก็ยังเป็นแค่ "ผู้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร" ไม่มีเกียรติยศศักดิ์ศรีเทียบเท่าคนไทยได้เลย

6. ภาษาร่วมสมัย ที่ไม่นำประเด็นนี้ไปรวมกับข้อ 2.3 เพราะเห็นว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ "โรงเรียนนักเขียน" เป็นข้อสังเกตปิดท้ายจากผู้เขียน ซึ่งไม่อยากให้นำไปอ้างอิงขยายความ เพราะข้อมูลและเหตุผลไม่ชัดเจนเพียงพอ

ผู้เขียนฉุกคิดขึ้นมาเล่นๆ ว่าเหตุใดสำนวนภาษาในหัสนิยายสามเกลอ ซึ่งเริ่มเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2481 มาสิ้นสุดเอาเมื่อ พ.ศ. 2511 (ใหม่สุดก็ 30 ปีมาแล้ว) จึงยัง "ทันสมัย" เหมือนกับว่าเพิ่งจะเขียนเมื่อวานนี้เอง

ขอเดา - คงเพราะ ป. อินทรปาลิตนำภาษาตลาด หรือ "ภาษาพูด" มาใช้ คนไทยเมื่อ 50 ปีก่อนกับคนไทยวันนี้ น่าจะมี "วิธีพูด" ไม่แตกต่างกันนัก เปลี่ยนก็เปลี่ยนไม่มาก โครงสร้างทางภาษาและอารมณ์ยังคงเดิม นิยายสามเกลอจึงดูเสมือนนิยายสมัยใหม่

พิสูจน์ได้ในขั้นหนึ่งว่า "ภาษาเขียน" วิวัฒนาการไปตามยุคสมัยสุดแต่ว่า "จริต" ของผู้ใช้ภาษาในแต่ละยุค จะทำให้รสนิยมทาง "วรรณศิลป์" แปรรูปออกมาเป็น "วรรณกรรม" ในท่วงทำนองใด ซึ่งไม่เกี่ยวกับการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันแต่อย่างใด




All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.