Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

สามเกลอกับไก่



ถ้าอ่านสามเกลอตอน "สามเกลอเลี้ยงไก่" "รัฐนิยม" หรือ "ปราบเมีย" แล้วจะพบว่าไก่ที่ร้องกระต๊ากๆ ก็เป็นพระเอกกับเขาได้เหมือนกัน สมัยเด็กๆ เมื่อผมอ่านสามเกลอตอนเหล่านี้จบแล้ว ก็อยากจะเห็นหน้าค่าตาเจ้าไก่พวกนี้อยู่เหมือนกัน จะจนใจก็แต่ ไม่รู้จะไปหาข้อมูลมาจากที่ไหน สมัยนั้น Yahoo ไม่มีกับเขาเสียด้วย มองไปรอบๆ ก็เจอแต่ไก่ตอนกับไก่บ้าน พอมาถึงสมัยนี้ลองไปค้นหาดู ก็ปรากฏว่าเจ้าอ๊อสตราล็อปและพวกยังไม่ยักกะสูญพันธุ์แฮะ ชาวอเมริกันชนยังบ้าคลั่งซื้อขายพวกมันเหมือนเดิม ส่วนเมืองไทยในปัจจุบันผมไม่ทราบจริงๆ ว่ายังมีคนเลี้ยง คนเห่ออยู่หรือเปล่า ยังไม่ได้ทำการสำรวจดูสักที ว่างๆ จะลองไปถามคนขายไก่ย่างห้าดาวหน้าปากซอยบ้านผมให้ก็แล้วกัน

คุณป. อินทรปาลิต ให้คำจำกัดความของการเลี้ยงไก่ฝรั่งพวกนี้ในตอน "ปราบเมีย" ว่าเป็น "โรคเอาอย่างหรือตามอย่างกันชนิดหนึ่ง" ของคนในสมัยนั้น ซึ่งผมว่าโรคเห่อนี่ สมัยนี้ก็ยังคงมีกับเขาเหมือนกัน ในสมัยนั้นถ้าคนที่มีชื่อเสียงริเริ่มสะสม หรือมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ คนธรรมดาทั่วไปก็จะไปขวนขวายหาสิ่งเหล่านั้นมาอวดกัน หรือกระทั่งจัดการประกวดแข่งขันกันขึ้น

เอาละหลังจากเกริ่นมามากแล้ว ลองมาดูข้อมูลและรูปที่ผมใช้เวลา 2-3 วันที่ผ่านมา ค้นหามาให้แฟนๆ สามเกลอได้ชม ได้อ่านกันดีกว่า

Australorp     แนะนำเจ้าตัวแรกเลยนะครับ อ๊อสตราล็อป (Australorp) เห็นชื่อภาษาอังกฤษก็เดาได้นะครับ ว่ามาจากออสเตรเลีย เจ้าอ๊อสตราล็อปนี่เป็นเจ้าแห่งการออกไข่ ผมอ่านสถิติของออสเตรเลียมา เขาบอกว่าปีหนึ่งมันออกไข่ได้ 364 ฟอง แน่นอนละครับมันเป็นเจ้าของสถิติโลกเรื่องนี้อยู่ ส่วนรูปร่างหน้าตา ถ้าสังเกตจากภาพจะเห็นนะครับว่ามันมีสีดำออกเขียว
เหตุผลง่ายๆ เรื่องสีดำของมันก็คือมันถูกพัฒนามาจากแบล็คออร์ปิงตัน (Black Orpington) แต่ตัวจะเล็กกว่าต้นฉบับอยู่เล็กน้อย คุณป. ให้คำอธิบายเกี่ยวกับมันสั้นๆ ผ่านปากของพล พัชราภรณ์ว่า "หูแดง ไม่มีขาวแซม"
ทีนี้มาถึงเจ้าตัวที่สองนะครับ ชื่อเล็กฮอร็น (Leghorn) เป็นไก่ไข่เหมือนเจ้าอ๊อสตราล็อป แต่จะตัวเล็กกว่าโขทีเดียว มีถิ่นกำเนิดจากเมืองเดียวกับชื่อของมัน ซึ่งอยู่ในประเทศอิตาลี เจ้าตัวนี้ก็ดังเหมือนกันมันดังในด้าน ที่ว่ามีสายพันธุ์แยกย่อยออกไปจากมันอยู่มากมาย คือมีสีดำ ขาว เงิน ดำหางแดง และอื่นๆ อีกมากมาย คงไม่ต้องบอกนะครับว่า   Leghorn
เจ้าตัวที่อยู่ในรูปเป็นแบล็กเล็กฮอร์นหรือไว้ท์เล็กฮอร์น จุดสังเกตง่ายๆของเจ้านี่ คือมันมีเครื่องตกแต่งหัวของมันที่ใหญ่เป็นพิเศษ พูดภาษาคนธรรมดาก็คือหงอนและเหนียง (เอ หรือเรียกว่าเดือยหว่า) ใหญ่มาก จุดสังเกตสุดท้ายก็จะอยู่ที่หางของมัน คือแม้ว่าจะตัวเล็ก แต่หางจะยาวคล้ายๆ รูปเคียว ง่า...บอกลักษณะขนาดนี้แล้วถ้าไปเจอมันเดินตามถนน คงจะเรียกชื่อมันถูกนะครับ
Light Sussex     ต่อมาก็มาถึงเจ้าไล้ท์ซัสเซ็กส์ (Light Sussex) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากมณฑล Sussex ประเทศอังกฤษ เป็นไก่อเนกประสงค์คือได้ทั้งเนื้อและไข่ ฝรั่งบอกมาว่ามันเกิดมาได้ร่วม 100 ปีแล้ว นับเป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่สายหนึ่ง รูปร่างก็เข้าข่ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า จะมีจุดเด่นอยู่ที่จุดเล็กๆ ลายพร้อยที่มีอยู่เต็มไปหมด และมีขนหลากสีสัน
แหมอธิบายมายืดยาว ขอปิดท้ายด้วยคำบรรยายลักษณะเจ้าไล้ท์ซัสเซ็กส์ของคุณ ป. ในสามเกลอตอน "สามเกลอเลี้ยงไก่" ที่เขียนไว้ว่า "ตัวขาวสร้อยดำ"
ตัวข้างล่างนี้คือ บั๊ฟออร์ปิงตัน ก่อนอื่นต้องพูดถึงคำว่าบั๊ฟก่อน คำนี้เป็นคำอธิบายถึงลักษณะของสายพันธุ์ย่อย คำว่าบั๊ฟ (Buff) นี่หมายถึงแถบสีเหลืองอ่อนๆ แต่ไม่ถึงกับซีด นี่แปลมาจากดิกชั่นนารีเกี่ยวกับไก่ของฝรั่งเลยนะครับ แต่ไม่รู้ว่าดิกชั่นนารีไก่ภาษาไทย เขาเรียกสั้นๆ ว่าอะไร ทีนี้ถ้าเป็นบลูออร์ปิงตัน ก็หาสีน้ำเงินมาระบายขนของรูปข้างล่าง
เจ้าออร์ปิงตัน (Orpington) นี่ ไม่ว่าบลู หรือ บั๊ฟ หรือ ไว้ท์ หรือแบล็ค ก็มีถิ่นกำเนิดมาจากเมือง Orpington ที่ประเทศอังกฤษเหมือนกัน ออร์ปิงตันเป็นไก่อเนกประสงค์เหมือนไอ้ตัวที่แล้ว ลำตัวของมันจะใหญ่มาก และมีขนที่หนักแต่ไม่ค่อยดกเท่าไรนัก สามเกลอของเราก็มีครบทั้งสี่สี เล่นเอาเจ้าคุณปัจจนึกถึงกับอิจฉาเลยทีเดียว   Buff Orpington
แต่ตัวที่ท่านเจ้าคุณใฝ่ฝันอยากจะได้มาเป็นเจ้าของมากที่สุด ตามเนื้อความในตอน "ปราบเมีย" ก็คือไก่บาร์พลีมัทร็อค (Barred Plymouth Rock) คำว่าบาร์นี่ก็เป็นคำขยาย ที่บ่งบอกสายพันธุ์ย่อยเช่นเดียวกับบั๊ฟ เมื่อไรก็ตามที่มีบาร์อยู่ข้างหน้า ไก่ตัวนั้นจะมีสองสีสลับกันไปมาในขนเส้นหนึ่ง ฝรั่งบอกให้จำคำว่า Bar ที่แปลว่าลูกกรงไว้ เพราะจะได้มองเห็นภาพเดียวกัน แต่ผมไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องจำตรงไหนเลย
Barred Plymouth Rock     บาร์พลีมัทร็อคนี่เป็นสายพันธุ์ที่เก่าแก่สายพันธุ์หนึ่งของอเมริกา เป็นไก่อเนกประสงค์เช่นเดียวกัน ฝรั่งบอกว่าให้เนื้อและไข่ที่มีคุณภาพดีมาก นี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ถึงความดังของมันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในรูปอาจจะดูลักษณะยากสักหน่อย แต่ถ้าแว่นขยายมาส่องหน้าจอ จะเห็นขนเป็นสีดำแซมขวา ขนาดของลำตัวก็ปานกลาง คุณป. บอกว่า"ลายเหมือนนกกระทา"
White Wyandotte     อันดับรองสุดท้ายก็ไว้ท์ยันด๊อท (Wyandotte) ซึ่งในรูปนี่ก็คือ White Wyandotte ซึ่งลำตัวจะขาวล้วน แต่ที่สามเกลอเลี้ยงไว้ จะเป็นขนขาวแซมดำ อย่างไรก็ตามลักษณะพิเศษ ของเจ้าไก่อเนกประสงค์จากอเมริกาพันธุ์นี้ก็คือ รูปร่างที่โค้งเป็นพิเศษ และที่สำคัญหงอนจะต้องเตี้ย แทบจะติดกับหัวของมัน ง่า.. คงไม่ต้องบอกนะครับว่า บั๊ฟไว้ท์ยันด๊อทขนสีอะไร
ไก่พันธุ์สุดท้ายที่ถูกเอ่ยถึงในสามเกลอก็คือ โร้ดไอแลนด์ (Rhode Island) ซึ่งเป็นไก่อเนกประสงค์ที่มาจากอเมริกา เช่นเดียวกับตัวข้างบน ฝรั่งบอกว่าเป็นไก่อเนกประสงค์ ที่ออกไข่ได้คุณภาพดีที่สุด มันมีลำตัวสี่เหลี่ยมผืนผ้า และมีลำตัวที่ยาวเมื่อเทียบกับความสูง ปกติแล้วจะมีสีแดงปนดำ ง่าใช้สำนวนคุณป. ดีกว่า "สียังกะเม็ดมะขาม" เห็นภาพพจน์ดีกว่าไหมครับ ฝรั่งบอกมาว่าถ้าอยู่กลางแดดนานๆ สีแดงเม็ดมะขามดังกล่าวจะซีดทันตาเห็น แหมช่างสังเกตเหลือเกิน ส่วนภาพที่เห็นเป็นภาพของจริงครับ เพราะผมหาภาพวาดเท่าไรก็ไม่เจอ   Rhode Island
ความจริงยังเหลืออีก 4 สายพันธุ์คือ หิรัญฟินแลนด์ ไล้ท์บลูชิคาโก เย็ลโล่ปารีส และโร้ดอบิสซีเนีย แต่ผมไม่มีสติปัญญาพอที่จะไปค้นหามาได้ ใครอยากทราบเหตุผลว่าเพราะอะไร ลองไปหาอ่าน "สามเกลอเลี้ยงไก่" ดูนะครับ
เรื่องสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึง ก็คือราคาของไก่เหล่านี้ ในสมัยสามเกลอนั้นราคาประมาณตัวละหนึ่งร้อยบาท ขาดเกินนิดหน่อย ที่ถูกที่สุดรู้สึกว่าจะเป็น บั๊ฟเล็กฮอร์น ตัวละเกือบเจ็ดสิบบาท ซึ่งถ้าเทียบมาสมัยนี้คงหลายหมื่นบาท เพราะ 2500 บาทสมัยนั้นก็ซื้อรถยนต์มาขับได้แล้ว คุณป. จึงเขียนไว้ว่า คนที่เลี้ยงไก่พวกนี้นะ ไม่กล้าจะกินแม้แต่ไข่ของมัน ซึ่งนิกรได้พูดเอาไว้ว่า "จริงๆ นะกินได้ แต่ไม่กล้ากินเพราะเสียดาย"
แหม...ไม่รู้มีใครทนอ่าน ไร้สาระนิพนธ์ของผมมาจนถึงบรรทัดนี้บ้างไหม หวังว่าจะมีประโยชน์ต่อคนที่จะกลับไปอ่านสามเกลอทั้งสามตอน ที่ผมกล่าวถึงมาตั้งแต่ต้น และตอนอื่นใดก็ตามที่มีไก่มาเกี่ยวข้อง และหวังว่าคงจะช่วยทำให้มองเห็นภาพไก่ๆ ได้ชัดเจนขึ้น อย่างน้อยที่สุด ผลทันตาเห็นก็คือ ผมกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องไก่ไปแล้วละครับ

Webmaster
28 กุมภาพันธ์ 2541



All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace sufers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.