Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ภาคนิพนธ์สามเกลอ



บทที่ 4

บทสรุป

วรรณกรรมเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาช้านาน เป็นเสมือนเงาสะท้อนของสังคมมนุษย์ ความเป็นไปของชีวิตในวรรณกรรมก็เป็นเสมือนเงาสะท้อนความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ในสังคม การนำเสนอวรรณกรรมต่าง ๆ ของนักประพันธ์ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เรามองเห็นบริบทของสังคม ในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเด่นชัด เนื่องจากผู้ประพันธ์วรรณกรรมได้นำประสบการณ์และสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มาเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์วรรณกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะวรรณกรรมประเภทนวนิยายถือได้ว่าเป็นบทประพันธ์ที่สะท้อนภาพบริบทความเป็นไปของสังคมในแต่ละช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของสังคมเราสามารถพบเห็นได้ในนวนิยาย จาก เหตุผลดังกล่าวทำให้ผู้เขียนมุ่งจะศึกษาหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน เพื่อศึกษาภาพสะท้อนและนัยความหมายบางประการทางการเมืองจากหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนและเหตุที่ผู้เขียนเลือกศึกษาหัสนิยายเรื่องดังกล่าวแทนที่จะเป็นนวนิยายเรื่องอื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าและสะดวกสบายต่อการศึกษามากกว่า นั้นก็เนื่องจากหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน มีการประพันธ์ออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี นอกจากจะสะท้อนภาพของสังคมแล้วยังแสดงถึงวิวัฒนาการของสังคมในช่วงเวลา 30 ปี ที่มีการประพันธ์หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนออกมาอีกด้วย

ในการศึกษาหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ครั้งนี้ ผู้เขียนมุ่งที่จะศึกษาภาพสะท้อนและนัยความหมายบางประการทางการเมืองซึ่งสะท้อนอยู่ในหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน แต่บางขณะก็ต้องกล่าวถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมด้วย เนื่องจากการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ต่างก็เป็นบริบทของกันและกัน และเป็นบริบทของวิถีชีวิตมนุษย์ในสังคม ซึ่งไม่สามารถแยกขาดออกจากกันได้

ด้วยข้อจำกัดทางด้านระยะเวลาในการศึกษาประกอบกับปริมาณมากกว่าหนึ่งพันตอนของ หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ผู้เขียนจึงไม่อาจศึกษาหัสนิยายชุดดังกล่าวตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่มีการประพันธ์ได้ และจำต้องวางขอบเขตของการศึกษาในครั้งนี้เพียงระยะเวลา 19 ปี โดยจะเริ่มจากปีแรกที่มีการประพันธ์พล นิกร กิมหงวน ออกสู่สายตานักอ่านเป็นครั้งแรก คือ ปี 2482 จนกระทั่งถึงปี 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การเมือง การปกครองไทยมีความผันผวนและการต่อสู้แข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีนโยบายและอุดมการณ์แตกต่างกันออกไป นับตั้งแต่เสรีประชาธิปไตย เผด็จการ คอมมิวนิสต์ อนุรักษ์นิยม สังคมนิยม

วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้มุ่งจะศึกษาวิเคราะห์หัสนิยายชุดสามเกลอพล นิกร กิมหงวน ซึ่งมีเนื้อหาอันสามารถสะท้อนถึงบริบทและมีนัยความหมายบางประการทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2482 ถึงปี 2500 เพื่อให้ทราบถึงสภาพทางการเมือง การปกครอง ของประเทศในช่วงเวลาดังกล่าว และเพื่อเป็นการขยายขอบเขตพรมแดนทางความรู้และการศึกษาของสาขาวิชารัฐศาสตร์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการศึกษาบทบาททางการเมืองที่สำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วยส่วนหนึ่ง

วัตถุดิบสำคัญในการศึกษาของผู้เขียนก็คือหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ซึ่งผู้เขียนสามารถ รวบรวมมาได้ทั้งสิ้น 366 ตอน แต่นำมาใช้ในการศึกษาเพียง 265 ตอน ส่วนที่เหลือไม่สามารถนำมาศึกษาได้เนื่องจากเป็นเนื้อหาในส่วนที่มีการประพันธ์ขึ้นหลังปี 2500 ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากขอบข่ายการศึกษาที่ได้วางไว้ในครั้งนี้

ในการศึกษาผู้เขียนได้แบ่งหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนออกเป็น 4 ยุด ตามสภาพการณ์ของการเมือง การปกครองไทย เพื่อความสะดวกในการศึกษาและให้คำอธิบาย ดังนี้

ยุคที่หนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ถึงปลายปี 2483 การเมืองไทยอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในเขตพระนครให้การยอมรับในระบอบการเมืองการปกครองระบอบใหม่ และ รัฐบาลของระบอบใหม่

ยุคที่สอง เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2483 ถึงปลายปี 2490 เป็นช่วงประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงครามสลับกับสันติภาพ การเมืองการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยสลับกับเผด็จการโดยผู้นำโดดเด่นเพียงคนเดียว

ยุคที่สาม เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2490 ถึงปลายปี 2500 การเมืองการปกครองของประเทศ ในปี 2490 ถึง 2494 เป็นแบบกึ่งประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการ ซึ่งมีความโน้มเอียงไปทางเผด็จการมากกว่า หลังจากนี้จนกระทั่งปี 2500 เป็นแบบเผด็จการทหาร และในช่วงท้าย ๆ ของยุค มีลักษณะพิเศษที่เรียกว่า เผด็จการอำนาจสามฐาน

ยุคที่สี่ เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2500 ถึงปี 2511 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ประพันธ์ได้เสียชีวิตไป ในยุคนี้ผู้เขียนไม่ได้ทำการศึกษา เนื่องจากอยู่นอกเหนือไปจากขอบข่ายการศึกษาที่ได้วางไว้ในครั้งนี้

ผลการศึกษาหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ทั้ง 3 ยุค ปรากฏว่า ในยุคที่หนึ่ง หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน สามารถสะท้อนภาพและนัยความหมายทางการเมืองในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบูรณาการชาติ จ การพยายามนำรัฐไทยไปสู่ความเป็นรัฐชาติ การพยายามเผยแพร่และครอบงำอุดมการณ์ทางการเมืองผ่านการ Entertain การเผยแพร่ความคิดชาตินิยม ภาพของสังคมไทยที่สงบสุข การเมือง เศรษฐกิจ สังคม มีความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับที่น่าพึงพอใจ และในช่วงปลายของยุคนี้การเมืองไทยเริ่มปรากฎภาพรางเลือนของการเบี่ยงเบนทางการเมือง จากหลักการประชาธิปไตยสู่การเป็นเผด็จการโดยผู้นำ จากการให้ความสำคัญกับระบอบระบบตามแนวทางรัฐธรรมนูญ สู่การให้ความสำคัญกับตัวบุคคล ซึ่งก็คือหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้มีบุคลิกภาพที่เข้มแข็งเด็ดขาด ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนไทยโดยทั่วไปยังคงคุ้นเคยและยอมรับในการมีผู้นำผู้ปกครองที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เช่น พระมหากษัตริย์ในระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้มแข็งเด็ดขาด ประเทศชาติก็จะมีความมั่นคง ประชาชนจึงยังคงยึดติดและมีคตินิยมชมชื่นในการมีผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดขาด ดังนั้น หลวงพิบูลสงครามผู้มีบุคลิกภาพในแบบดังกล่าวจึงได้รับความนิยมสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนในยุคแรกนี้ก็ยังมีการตกหล่นภาพและนัยความหมายทางการเมืองที่สำคัญบางประการไปบ้าง เช่น เหตุการณ์ประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฏทั้ง 18 คน ใน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2482 ถึง 3 ธันวาคม 2482 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ ป. อินทรปาลิตได้ประพันธ์หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนในตอนปราบเมียหรือทายาทคุณเตี่ย ซึ่งการตกหล่นในภาพที่น่าสลดสังเวชเช่นการประหารชีวิตนักโทษการเมืองในคราวเดียวกันถึง 18 คนนี้ อาจให้คำอธิบายได้ว่าหัสนิยายชุดสามเกลอเป็นนิยายประเภทจี้เส้นตลกขบขัน จึงไม่ปรากฏภาพของภาพของความสลดหดหู่เช่นการประหารชีวิตนักโทษการเมืองในคราวเดียวกันถึง 18 คน

ต่อมาในยุคที่สอง ผู้เขียนได้แบ่งหัสนิยายชุดสามเกลอในยุคนี้ออกเป็น 3 ช่วง ตามลักษณะการประพันธ์ของผู้ประพันธ์ และความยากง่ายในการรวบรวมบทประพันธ์ ซึ่งผลการศึกษาปรากฏว่าหัสนิยายชุดสามเกลอในยุคที่สอง ช่วงที่หนึ่ง ยังคงสะท้อนภาพและนัยความหมายทางการเมืองได้เป็นอย่างดี โดยภาพสะท้อนและนัยความหมายหลักที่ปรากฏอยู่ในช่วงนี้ก็คือภาพของกรณีพิพาทอินโดจีนและความคิดชาตินิยมซึ่งกำลังเป็นกระแสหลักของสังคม การนำประวัติศาสตร์มารับใช้การเมือง ภาพของการเบี่ยงเบนทางการเมืองจากประชาธิปไตยสู่การเป็นเผด็จการโดยผู้นำซึ่งปรากฎขึ้นอย่างรางเลือนในยุคแรกกลับเห็นได้อย่าง ชัดเจนในยุคนี้ ภาพความอึดอัดวิตกกังวลของประชาชนและการเตรียมตัวรับภาวะสงครามที่อาจจะมาถึงประเทศไทย การสร้างชาติและปฏิวัติวัฒนธรรมของท่านผู้นำ และภาพของประเทศไทยในช่วงระยะแรก ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนไม่สามารถรวบรวมบทประพันธ์ที่ถูกประพันธ์ขึ้นในช่วงเวลาได้อย่างครบถ้วนหรือมีจำนวนมากพอทำให้ภาพดังกล่าวขาดความชัดเจนไปอย่างน่าเสียดาย บทประพันธ์ที่ถูกประพันธ์ขึ้นระยะแรก ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สองและผู้เขียนไม่สามารถแสวงหามาทำการศึกษาได้ เช่น ตอนงูเห่าฟ้า ปีกหัก พรานอากาศ ปีศาจเวหา อย่างไรก็ตามหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนในยุคที่สอง ช่วงที่หนึ่งก็ไม่ปรากฏภาพของความวุ่นวายสับสนในประเทศและความเจ็บช้ำน้ำใจของประชาชน เมื่อญี่ปุ่นยกพลบุกประเทศไทย และรัฐบาลมีคำสั่งให้หยุดยิงและยุติการต่อต้าน ซึ่งการขาดหายไปของภาพในตอนนี้ก็เนื่องจาก ป. อินทรปาลิตไม่มีการประพันธ์หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ออกมาในช่วงเวลาดังกล่าว คือ ช่วงเดือนธันวาคม 2484 การที่ผู้ประพันธ์ไม่มีการประพันธ์หัสนิยายชุดสามเกลอออกมาในช่วงเวลาดังกล่าวก็น่าจะเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ประการแรก สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย ไม่มีความ ชัดเจน ประการที่สอง ความรู้สึกผู้ประพันธ์ก็คงไม่ต่างไปจากประชาชนไทยทั้งประเทศในขณะนั้นคืองงงัน และไม่เข้าใจในท่าทีและนโยบายของรัฐบาล เจ็บช้ำน้ำใจที่เห็นทหารญี่ปุ่นมาเดินอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ในขณะที่ประชาชนทั่วไปไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่น รัฐบาลกลับให้ความเป็นมิตรและสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ความอึดอัดคับข้องใจและความไม่แน่ใจในสถานการณ์ทำให้ ป. อินทรปาลิต ไม่มีการประพันธ์พล นิกร กิมหงวนออกมา เพราะหากประพันธ์ออกมาตามแนวทางของรัฐบาลก็ขัดกับความเป็นจริงในสังคมขณะนั้น และประชาชน นักอ่านก็คงไม่อ่านหรือหากอ่านก็คงตำหนิติเตียนผู้ประพันธ์และเสื่อมความนิยม แต่หากประพันธ์ออกมาตามความเป็นจริงในสังคมขณะนั้นก็อาจถูกสั่งเก็บหนังสือห้ามมิให้วางจำหน่าย เนื่องจากประเทศไทยในขณะนั้นมีการใช้กฎอัยการศึก และการควบคุมเสรีภาพของสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อมวลชน

ยุคที่สอง ช่วงที่สอง หัสนิยายชุดสามเกลอในช่วงนี้การประพันธ์ออกมาน้อยตอนและสูญหายไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากภาวะสงคราม เท่าที่ผู้เขียนรวบรวมมาทำการศึกษาได้นั้นมีอยู่เพียง 3 ตอน แต่ภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองของหัสนิยายชุดสามเกลอในช่วงนี้น่าจะมีความชัดเจนมากพอ สมควร โดยเห็นได้จากบทประพันธ์ทั้ง 3 ตอน ที่นำมาศึกษานั้นให้ภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองได้ชัดเจนพอสมควร น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่าบทประพันธ์ที่พยายามรวบรวมมาทำการศึกษานั้นมีน้อยเกินไปทำให้ภาพการเมืองที่ปรากฏอยู่ในตอนนี้ขาดความชัดเจนไปอย่างน่าเสียดาย หากมีจำนวนมากพอสมควรแล้วเราคงได้เห็นภาพสะท้อนของการเมืองไทยในขณะนั้นได้อย่างชัดเจนเป็นแน่ จากการศึกษาหัสนิยายชุดสามเกลอที่ประพันธ์ขึ้นในช่วงนี้ทั้งสามตอน ปรากฏภาพของเมืองไทยในช่วงหลังๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น การทิ้งระเบิดโจมตีกรุงเทพฯ ของฝ่ายสัมพันธมิตร ภาวะการขาดแคลนสินค้าจำเป็นในการดำรงชีพ ภาวะเงินเฟ้อข้าวยากหมากแพง การเมืองการปกครองไทยภายใต้การนำของรัฐบาลนากยกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ครั้งที่ 1

ยุคที่สอง ช่วงที่สาม การศึกษาหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวนในช่วงนี้ปรากฏว่าสะท้อนภาพทางการเมืองได้น้อยกว่าช่วงที่ผ่าน ๆ มาแล้วมาก จะปรากฏเฉพาะส่วนที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรงหรือเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป เช่น การคอรัปชั่น ภาพที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุดสามเกลอ ช่วงนี้มักจะเป็นภาพของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแทรกอยู่ปะปนกันไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าส่วนใดคือ การเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม เช่นที่ผ่านๆ มา หรืออาจมีบางตอนที่สามารถแยกแยะได้แต่ก็เป็นส่วนน้อย ภาพที่ปรากฏอยู่ในช่วงนี้ได้แก่ สภาพของเมืองไทยในช่วงหลัง ๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในรูปของคำบรรยายหรือคำปรารภย้อนหลัง การเกิดระบบพรรคการเมือง การทุจริตคอรัปชั่น การเรียกและรับสินบน การใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการและนักการเมือง ความลำบากเดือดร้อนนานาประการของประชาชนอันเป็นผลกระทบมาจากสงคราม ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในประเทศ ความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเปลี่ยนแปลงความนิยมยกย่องเชิดชูมาเป็นความเบื่อหน่ายชิงชังไม่ยอมรับ ส่วนนัยความหมายทางการเมืองนั้น สามเกลอในช่วงนี้ไม่ปรากฏนัยความหมายทางการเมืองเลย

หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ในยุคที่สอง ช่วงที่สามนี้ไม่ได้สะท้อนภาพเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมืองหลาย ๆ เหตุการณ์ เช่น ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม และระหว่างฝ่ายเสรีนิยมด้วยกันเอง การพยายามหวนคืนมามีบทบาททางการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และการรัฐประหาร 2490 ที่พลิกผันการเมืองการปกครองไทยสู่ระบอบเผด็จการ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากสภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมในขณะนั้นไม่เอื้ออำนวย และวัตถุประสงค์ในการประพันธ์ ซึ่งต้องการสร้างความสนุกสนานบันเทิงเริงรมย์ให้กับผู้อ่าน จึงไม่ควรที่จะกล่าวถึงความขัดแย้ง ความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งผู้อ่านได้สัมผัสอยู่แล้วในชีวิตความเป็นจริง

และยุคที่สาม หัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ในยุคที่สาม สะท้อนภาพทางการเมืองได้ไม่มากไปกว่าในยุคที่สอง ช่วงที่สาม และภาพที่ปรากฏก็จะมีลักษณะเดียวกัน คือ จะปรากฏเฉพาะส่วนที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรงหรือเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป มักจะเป็นภาพของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมแทรกอยู่ปะปนกันไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าส่วนใดคือ การเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม เช่นยุคก่อนๆ ผ่านมา หรืออาจมีบางตอนที่สามารถแยกแยะได้แต่ก็เป็นส่วนน้อย ภาพการเมืองที่ปรากฏอยู่ในยุคนี้ เช่น ปัญหาต่างๆ ที่เรื้อรังมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจะปรากฏอยู่ในเนื้อหาบทประพันธ์ที่ถูกประพันธ์ออกมาในช่วงต้นๆ ของยุค การทุจริตคอรัปชั่นการเรียกและรับสินบน การใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการและนักการเมือง ความแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายการแบ่งพรรคแบ่งพวก การแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นผู้นำทางการเมือง การกำจัดฝ่ายตรงข้ามและศัตรูทางการเมืองและการใช้ความรุนแรงทางการเมือง เช่น กรณีการเสียชีวิตของ 4 อดีตรัฐมนตรี การลอบสังหารบุคคลที่มีความเห็นไม่ลงรอยกับรัฐบาล ภาพการเมืองไทยในยุคอัศวินผยอง ยุคอำนาจและอิทธิพลเถื่อนครองเมืองและการใช้อำนาจและอิทธิพลสร้างอภิสิทธิ์ส่วนตัว การปราบปรามและต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงคราเย็น การขาดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน ฯลฯ ในส่วนของนัยทางการเมืองนั้น นัยทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในยุคนี้ก็มีอยู่ไม่มากนักที่ปรากฏอยู่ก็เช่น การใช้การ Entertain ในการเผยแพร่อุดมการณ์ทางการเมือง การประชดประชันรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ภาพสะท้อนและนัยความทางการเมืองที่หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวนในยุคที่สามได้ขาดหายไปนั้นมีหลายเหตุการณ์ด้วยกันเช่น เหตุการณ์กบฏเสนาธิการ เหตุการณ์กบฏวังหลวง กบฎแมนฮัตตัน การออกเดินทาง 70 วันรอบโลกของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้น โดยน่าจะมีสาเหตุเช่นเดียวกับสามเกลอในยุคที่สอง ช่วงที่สาม

จากผลการศึกษาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าหัสนิยายชุดสามเกลอที่ประพันธ์ขึ้นในยุคแรก และยุคที่สอง ช่วงที่หนึ่งเป็นยุคที่สามารถสะท้อนภาพและนัยความหมายทางการเมืองได้ดีกว่าทุกยุค ทั้งนี้ก็น่าจะเป็นผลมาจากการที่การเมืองการปกครองของประเทศในขณะนั้นอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนได้แสดงออกและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ได้ถูกกีดกันปิดกั้น การเมืองเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประชาชน จึงปรากฏภาพนัยความหมายสะท้อนในบทประพันธ์ที่มีการประพันธ์ขึ้นมาในช่วงเวลานั้น

ส่วนหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ในยุคต่อมาหรือที่ประพันธ์ขึ้นตั้งแต่ปี 2489 ถึงปี 2500 นั้น สะท้อนภาพและนัยความหมายทางการเมืองในบทประพันธ์ได้น้อยกว่าในยุคที่ผ่านๆ มามาก และไม่แจ่มชัดเช่นในยุคแรกส่วนที่มีปรากฏอยู่ก็จะปะปนกันทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนหรือในบางตอนอาจมีความชัดเจนแต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก นอกจากนี้ยังเป็นการปรากฏเฉพาะส่วนที่มีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง เช่น การคอรัปชั่น หรือส่วนที่เป็นความคิดเห็นของประชาชนโดยทั่วไปในขณะนั้น โดนสาเหตุนั้น ในระยะแรกน่าจะเป็นผลกระทบมาจากภาวะสงคราม ส่วนระยะหลังตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมานั้น น่าจะเป็นผลมาจากสภาพการทางการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย และวัตถุประสงค์ของผู้ประพันธ์ซึ่งต้องการประพันธ์ พล นิกร กิมหงวน ออกมาเป็นนวนิยายขบขันตลกโปกฮา รวมทั้ง สาเหตุ อีกประการน่าจะเป็นผลมาจาก ความยากลำบากในการดำรงชีพในยุคหลังสงครามของผู้ประพันธ์ ทำให้ผู้ประพันธ์ต้องเร่งผลิตผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก เพื่อสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อภาระความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัว เมื่อเร่งปริมาณการผลิตจึงเป็นผลให้คุณภาพของงานลดลง ผู้ประพันธ์มีระยะเวลาในการศึกษาและแสวงหาวัตถุดิบในการประพันธ์น้อยลง ผลงานในช่วงหลังจึงมีความสามารถในการสะท้อนภาพทางการเมืองและสังคมในขณะนั้นได้น้อยลง

การศึกษาวิเคราะห์ภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองจากหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ในครั้งนี้ เป็นการยืนยันถึงความคิดที่ว่าวรรณกรรมเป็นเสมือนกระจกเงาสะท้อนสังคมมนุษย์ วรรณกรรมสามารถทำให้เราทราบถึงบริบทต่างๆ ของสังคมมนุษย์ในช่วงเวลาที่มีการประพันธ์วรรณกรรมนั้นๆ ขึ้นมา โดยเฉพาะนวนิยายนับว่าเป็นงานวรรณกรรมที่จะสามารถสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมขณะนั้นได้อย่างชัดเจนที่สุด หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ก็เช่นเดียวกัน

การศึกษาวิเคราะห์การเมืองในช่วงเวลา 19 ปี ที่ทำการศึกษา คือ นับตั้งแต่ปี 2482 ถึงปี 2500 ซึ่งเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางการเมืองไทย อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นระยะเวลาที่ระบอบประชาธิปไตยเริ่มได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไป ให้เข้ามาแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช แต่แล้วก็เกิดการเบี่ยงเบนสู่ระบอบเผด็จการโดยผู้นำอย่างละมุนละม่อม เมื่อภาวะสงครามเข้าคลอบคลุมประเทศและผ่านพ้นไป ประชาธิปไตยเริ่มเบ่งบานอีกครั้งหนึ่ง แต่แล้วการรัฐประหารในปี 2490 ก็นำประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการการทหาร อันเป็นผลให้ระบอบเผด็จการทหารคลอบคลุมเหนือการเมืองไทยอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าสองทศวรรษ และนำไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค จึงนับได้ว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองทางการเมืองในช่วง 19 ปี ดังกล่าว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมือง ในระยะเวลาต่อมา

นอกจากเป็นการยืนยันความคิดที่ได้กล่าวมาเบื้องต้นแล้ว การศึกษาวิเคราะห์หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ในครั้งนี้ ยังเป็นการขยายขอบข่ายของการศึกษาและความรู้ในวิชารัฐศาสตร์ให้กว้างขวางออกไปยิ่งๆ ขึ้น และยังทำให้ทราบถึงบทบาททางการเมืองที่สำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายก รัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมา






All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.