Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 11





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: อิศรา อมันตกุล
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณกวาง

พี่ ป. ที่ผมรู้จัก

ผมรู้จักกับพี่ ป. ในลักษณะที่จะเรียกได้ว่าไต่ "บันได ๓ ขั้น" เห็นจะไม่ผิดนัก

บันไดขั้นแรก เริ่มแต่สมัยผมยังเป็นเด็กนุ่งกางเกงขาสั้น ใส่เสื้อนอกกระดุม ๕ เม็ด แม่ให้สตางค์มาเป็นค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียนวันละ ๑๐ สตางค์ ตัวเลขนี้ตรงกับราคาหนังสืออ่านเล่นชนิดหนึ่งที่ผมหลงใหลแทบโงหัวไม่ขึ้นในยุคนั้นพอดิบพอดีทีเดียว วันไหนผมใจกล้าซื้อหนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์ มันก็หมายความว่า วันนั้นตอนเที่ยงต้องอดมื้อกลางวัน หันไปอาศัยน้ำประปาของโรงเรียนชโลมไส้ไปตามมีตามเกิด แต่น้ำประปามันไม่เคยอยู่ท้องเหมือนข้าวแกงหรือก๋วยเตี๋ยว พอเข้าเรียนภาคบ่ายไม่เท่าไร ผมจึงมักเกิดอาการสวิงสวายพาลจะลมจับกลางชั้นด้วยความหิวอยู่เนืองๆ

หนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์ทำให้ผมยอมอดมื้อกลางวันบ่อยๆ นี้ ในครั้งนั้นมีพิมพ์แข่งกันออกจำหน่ายล่อใจกุมาราอยู่สองสำนัก สำนักนายอุเทนมี พี่เลียว ศรีเสวก ของเรานี่แหละเป็นแม่เหล็กใหญ่ ใช้นามปากกามากหลาย แต่ไม่ว่านามปากกาอะไรคนอ่านติดกันเกรียวทั้งเมือง ยุคนั้นพี่เลียวชื่อเฟื่องด้วย "เรืองฤทธิ์" "เรืองเดช" "เรืองยศ" "เรืองศักดิ์" "สี่เรือง" "ช่อลิลลี่" "พริ้มเพรา" และ "อรวรรณ"

อีกสำนักหนึ่ง มีนักเขียนชื่อดังๆ คับคั่งกว่านายอุเทน ชื่อสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ดาราที่หนอนหนังสืออย่างผมคลั่งไคล้ก็มี "ส. บุญเสนอ" (วันดีคืนดีพี่เสาร์ก็ใช้ "บุญส่ง กุศลสนอง") "พาณี" "มนัส จรรยงค์" "ส. เทพโยธิน" "จำนง วงศ์ข้าหลวง" (บางทีก็ใช้ "ปอง เผ่าพัลลภ") "อ. อรรถจินดา" และ ฯลฯ สำนักพิมพ์เพลินจิตต์นี่เองที่เป็นผู้นำ ป. อินทรปาลิต ให้ก้าวมาพบกับนักอ่านอย่างอาจอง เรื่องแรกของ ป. ถ้าผมจำไม่ผิด ชื่อว่า "นักเรียนนายร้อย" สมัยนั้นผมอ่านแล้วบอกไม่อายว่าน้ำตาไหลพรากด้วยความสะเทือนใจเอาทีเดียว

ผมทุ่มตัวลงไป ในความหลงใหลหนังสืออ่านเล่นประเภทนี้อย่างบ้าคลั่ง เวลาอ่านได้ฝันเพ้อเจ้อไปกับเนื้อเรื่องอย่างลืมตัวจนไม่คิดอะไรทั้งสิ้น ขนาดคุณครูเชิญ อภิบาลศรี เอาไม้บรรทัดเคาะข้อศอกแรงๆ ๓ ครั้งยังไม่รู้สึกตัวก็มี อาจารย์ภาษาไทยคืออาจารย์กำชัย ทองหล่อ พยายามยัดเยียดภาษาไทยให้ผมอย่างปากเปียกปากแฉะ แต่ผมกลับรับเอาจากท่านน้อยเหลือเกิน ดันมากอบโกยความรู้ภาษาไทยจากหนังสือพี่เลียวบ้าง พี่มนัสบ้าง พี่เสาร์บ้าง พี่ ป. บ้างอย่างหิวโหย

ผมคงจะขาดใจตายด้วยความหิวแสบไส้กลางชั้นเรียนเพราะขาดอาหารกลางวันเข้าสักวันหนึ่งเป็นแน่ ถ้าหากวันหนึ่งไม่เผอิญขี่จักรยานเที่ยวเปะปะไปจนล้ำเข้าสู่เวิ้งนาครเขษม แล้วได้พบด้วยความระทึกตื่นเต้นอย่างสูงสุดว่า ที่นั่นมีร้านหนังสือเก่าอยู่เยอะแยะ แต่ละร้านขายหนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์ที่เป็นมือสองแล้วในราคาเล่มละ ๒ หรือ ๓ สตางค์เป็นอย่างแพง ถ้าต่อรองดีๆ บางที ๓ เล่ม ๕ สตางค์ก็ยังไหว

ตั้งแต่ได้มาพบขุมทรัพย์นี้เข้า ปัญหาอดมื้อกลางวันของผมก็หมดไป นึกด่าตัวเองว่าเชยมานาน จนตัวผอมกะหร่อง สมน้ำหน้า

บันไดขั้นสอง เริ่มเมื่อผมเข้าทำงานหนังสือพิมพ์กะเขาเข้าให้แล้ว ตอนนั้นติดมวยราชดำเนินต้องดูแทบทุกนัด แก๊งนักนิยมกีฬาชนคนของเราที่มักยกขบวนไปดูพร้อมๆ กันก็มี เสนีย์ กฤษณเศรณี, ชั้น แสงเพ็ญ, ถนอม อัครเศรณี, สนิท วงศาโรจน์, รัตน์ ศรีเพ็ญ ที่สนามมวยนี่เอง มีคนชี้ให้ผมดู

"นั่นไง ป. อินทรปาลิต"

ผมเหลียวขวับตามมือชี้คอแทบเคล็ด โอ้โฮ! นี่หรือยอดนักเขียนที่ผมหลงมาตั้งแต่สมัยนักเรียน หน้าตาเรียบๆ ผมหวีเป๋ ท่าทางเฉื่อยๆ เรื่อยๆ ยุคนั้นชุด "สามเกลอ" ของพี่ ป. ดังยิ่งกว่าพลุ หน้าตาเรียบร้อยอย่างนี้ไม่น่าจะสร้างสามเกลอจอมหมื่นขึ้นมาเขย่าท้องคนอ่านทั่วประเทศได้เลย

บันไดขั้นสาม เริ่มเมื่อพรรคพวกมาถึงผมซึ่งกำลังเตะฝุ่นเล่นให้ไปออกหนังสือพิมพ์รายวันด้วยกัน คนที่อุตริตั้งตัวเป็นนายทุนเพราะมีอัฐเหลือใช้มากหน่อย และมีที่ดินแถวฝั่งธนฯ แยะก็คือ บุญยง นิ่มสมบูรณ์ คนเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงวิ่งเต้นคือ รำพรรณ พุกกะเจียม เราหารือกันแล้วลงมติว่าจะใช้ชื่อ "เอกราช"

การออกหนังสือพิมพ์รายวันสมัยนั้นว่าไปแล้วมันทำได้ง่ายเหมือนตั้งร้านเครื่องชำอะไรขึ้นมาสักร้าน กะทุนค่ากระดาษ ค่าเงินเดือนกองบรรณาธิการ ค่าการจรให้ดี ส่วนช่างเรียงกับแท่นไปจ้างเขาก็ได้ โรงพิมพ์ที่เราไปจ้างให้เรียงพิมพ์ คือโรงพิมพ์ปิยมิตรของคุณประยูร หอมวิไล ตั้งอยู่บนถนนบำรุงเมือง พอตกลงสนนราคากันเสร็จ อีกห้าวัน "เอกราช" ก็ออกตลาดเหมือนว่าเล่น

คุณประยูร อุทิศเศษแห่งเนื้อที่ชั้นล่างของโรงพิมพ์แกให้เป็นที่ตั้งกองบรรณาธิการของเรา มันกว้างขวางพอที่จะบรรจุโต๊ะได้ ๓ ตัวเท่านั้น ตัวหนึ่งครอบครองโดยบุญยง ซึ่งเป็นเจ้าของ ผู้จัดการ บรรณาธิการ ผู้พิมพ์โฆษณา ผู้ติดตะรางเสร็จ อีกตัวเป็นของพี่พรรณ อีกตัวผมนั่ง นักข่าวของเราจึงต้องยึดร้านกาแฟตรงข้ามโรงพิมพ์เป็นที่ทำงาน เหยี่ยวข่าวตอนนั้นมี แหลม ปาณัษเฐียร, อาคม คเชนทร์, สมบูรณ์ วิริยศิริ, อร่าม ขาวสอาด, ประมวล เอี่ยมวัฒน์ เป็นอาทิ

เราออก "เอกราช" ไปได้พักหนึ่ง ก็ได้ข่าวว่าคุณประยูร หอมวิไล จะออกรายวันอีกฉบับ แต่ไม่ใช่หนังสือข่าว เป็นหนังสือบันเทิงล้วนๆ ทั้งนี้โดยเชิญ ป. อินทรปาลิต มาเป็นผู้อำนวยการ หนังสือบันเทิงรายวันนี้ ให้ชื่อว่า "ปิยมิตรรายวัน" เจตนาก็เพื่อแข่งตลาดกับ "เพลินจิตต์รายวัน" ซึ่ง "นางแมวป่า" ของพี่เลียวกำลังดังไปทั้งสิบหกทิศ

ใกล้ "ปิยมิตรรายวัน" จะคลอด ผมเห็นพี่ ป. ขับรถยนต์มาจอดหน้าโรงพิมพ์ตอนเช้า แล้วหิ้วพิมพ์ดีดกระเป๋าเดินงุดๆ ขึ้นบันไดตรงไปชั้นสองเลย พอห้าโมงเย็น พี่ ป. ก็หิ้วพิมพ์ดีดเดินก้มหน้างุดๆ ไม่มองใครออกจากโรงพิมพ์ขึ้นรถยนต์ขับปร๋อออกไป

จนกระทั่งวันที่ "ปิยมิตรรายวัน" คลอดฉบับแรก ประมาณห้าโมงเย็น คุณประยูรก็มาสะกิดผม "ขึ้นไปซัดอะไรเย็นๆ กันข้างบนเถอะ งานเสร็จแล้วไม่ใช่เรอะ?" ผมเดินตามความเจ้าเนื้อของคุณประยูรขึ้นไปชั้นสอง ฝ่าม่านไม้ไผ่ที่ขึงไว้เป็นบังตาเข้าไปในห้องทำงานของคณะ "ปิยมิตร" ที่นั่นผมเห็นพี่ ป. กำลังโขกพิมพ์ดีดเสียงดังป๊อกแป๊ก

ผมยกมือวันทาก่อน พี่ ป. รับแล้ว ลุกจากพิมพ์ดีด เดินไปหยิบแก้วรินแม่โขงผสมโซดาเอามาส่งให้ผม "ได้ยินชื่อคุณมานานแล้ว เพิ่งรู้จักตัวจริงวันนี้เอง"

"ผิดกับผมฮะ" ผมว่า "ผมรู้จักตัวจริงพี่ ป. มาตั้งสอง-สามปีแล้ว เห็นในสนามมวยแทบทุกนัด ผมติดเรื่องพี่ ป. มาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนั่นแน่ะฮะ"

ป. อินทรปาลิต หัวเราะหึๆ ในลำคอ "ผมเป็นนักประพันธ์ที่ไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นนักประพันธ์เลย อย่างมากเป็นกะเขาได้แค่นักประพันธ์สำนวนสิบสตางค์" หยิบเหล้าจิบนิดหนึ่ง "แต่นั่นแหละนะ น้องชาย เรามันเกิดมาสำหรับเขียนหนังสือ ใครเขาจะเรียกเราว่ายังไงก็ตามที เราก็หนีหน้าที่เขียนหนังสือขายไปไม่พ้น พวกเรานี่มันคล้ายถูกสาป เขียน- เขียน- เขียน- เขียนกันทุกวี่ทุกวันไปจนถึงตายถึงจะหมดหน้าที่"

พี่ ป. จะมีความรู้สึกในอาชีพการประพันธ์ของตัวเองอย่างไรก็ตามที สำหรับผมเชื่อว่าคุณค่าการเขียนหนังสือของพี่ ป. สูงส่งยิ่งกว่า "สำนวนสิบสตางค์" มากนัก ชีวิตพี่ ป. อาจไม่เคยผลิตนวนิยายปกแข็งเดินทองหรูหราเล่มหนาๆ ราคา ๔๐-๕๐ บาทออกวางขายในตลาด แต่ใครกล้าเถียงบ้างว่าเล่มละ ๑๐ สตางค์ของพี่ ป. ในสมัยหนึ่งนั้น ได้เป็นพลังอันรุนแรงขับดันตลาดหนังสือเมืองไทยให้ไหวตัวไปในทางเสริมส่งรายได้นักเขียน และปลุกเด็กรุ่นหลังให้ตื่นขึ้นในความสนใจที่จะอ่านหนังสือ รักหนังสือกว้างขวางยิ่งกว่ายุคก่อนๆ พูดก็พูดเถอะ ชุด "สามเกลอ" ของพี่ ป. ทำให้คนที่ไม่เคยแยแสหนังสือเลย ต้องหันมาติดหนังสืออย่างงอมแงมไม่รู้กี่ร้อยกี่พันคน

ผมทราบข่าวพี่ ป. สิ้นบุญ ขณะตัวผมนอนป่วยอยู่ที่ตึกจงกลนี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไม่มีโอกาสโดยสิ้นเชิงที่จะไปจุดธูปกราบศพนักเขียนอาวุโสที่ผมเคารพ แม้ขณะผมกำลังเขียนข้อความเหล่านี้อยู่เหมือนกัน ตัวผมยังแซ่วอยู่กับเตียงคนไข้ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อีกนั่นแหละ เป็นการป่วยมาราธอนที่ผมกับมัจจุราชเล่นมวยปล้ำกันไปมาอย่างสนุก นี่เพิ่งได้ทราบข่าวว่าวันเผาพี่ ป. ใกล้จะมาถึงรอมร่ออยู่แล้ว ผมจะมีโอกาสลุกจากเตียงลากโครงกระดูกตัวเองกะร่องกะแร่งไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพพี่ ป. แม้สักสิบห้านาทีได้หรือไม่ก็ยังไม่รู้

วันก่อนคุณสนิท เอกชัย ซึ่งพยายามทุกๆ อย่างที่จะช่วยพี่ ป. ในการเจ็บป่วยครั้งหลังสุด ตลอดจนแม้ในการเขียนหนังสือต่อไปเมื่อพี่ ป. หายแล้ว ได้แวะมาเล่าให้ฟังว่า ทั้งๆ ที่ใกล้จะตายเต็มทีพี่ ป. ก็ยังคงกัดฟันตั้งหน้าตั้งตาผลิตตัวหนังสือออกมาอย่างไม่ย่อท้อและหยุดยั้ง พี่ ป. ในสังขารที่โทรมอย่างน่าสมเพชยังเป็นพี่ ป. ที่ชูประทีปแห่งอุดมคติของคนเกิดมาเขียนหนังสือเอาไว้อย่างทรนง คำเล่าของคุณสนิททำให้ผมหวนนึกไปถึงคำพูดที่พี่ ป. เคยประทับใจผม

"พวกเรานี่มันคล้ายถูกสาป..."

ตัวหนังสือของพี่ ป. - หรือพูดอีกที - มันสมองของพี่ ป. ... ได้เป็นเครื่องจักรผลิตเงินผลิตทองออกมามากมาย ถูกละ เงินเหล่านี้ ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งตกเป็นของพี่ ป. แต่ใครๆ ก็รู้กันทั่วเมืองว่าส่วนใหญ่ของเงินที่ได้จากการขายหนังสือในนามปากกา ป. อินทรปาลิต กลับไหลพรั่งพรูเข้ากระเป๋าเจ้าของสำนักพิมพ์ และประดาผู้ประกอบธุรกิจ เกี่ยวกับการค้าหนังสือ อย่างสุขเกษมเปรมปรีดิ์ไปตามๆ กัน เขาเหล่านี้กลายเป็นนายห้างและเจ้าสัวนั่งตีพุงด้วยความสำราญ ขณะที่ ป. อินทรปาลิต กลายเป็นสุนัขไล่เนื้อ ซึ่งฟันฟางและเขี้ยวเล็บโยกคลอน เนื้อหนังเหี่ยวย่น ผมโซลงทุกๆ วัน ครั้งหนึ่งผมเคยมีโอกาสร่วมคณะไปเที่ยวกับเจ้าของสำนักพิมพ์และเจ้าของร้านรวมห่อ เขาขับรถยนต์ราคาแสนไปเช่าบังกาโลชายทะเลเล่นโปคเกอร์เล่นเผกัน ตลอดเวลามีเหล้าฝรั่งและอาหารจีนชั้นเหลาและนารีคอยเปรอปรนความสุข ผมเห็นเขาได้เสียกันทีละหมื่นสองหมื่นอย่างหน้าตาเฉย ดูเหมือนเงินหมื่นไม่มีความหมายอะไรสำหรับชนชั้นเจ้าสัวอาเสี่ยกลุ่มนั้นเลย แต่ชนชั้นเจ้าสัวอาเสี่ยกลุ่มนี้แหละ ผมเคยเห็นโยนเงินค่าเรื่องให้นักประพันธ์มีชื่อคนหนึ่งในอัตราหนึ่งพันบาท ต่อลิขสิทธิ์หนังสือหนา ๔๐ ยก! โยนให้แล้วยังพูดให้เสียดกระดองใจเสียอีกว่า "ผมซื้อไว้ยังงั้นเอง จะพิมพ์หรือไม่ก็ยังไม่รู้ ซื้อเพราะสงสารคุณเท่านั้น"

นักเขียน "ผู้ถูกสาป" อย่างพี่ ป. ได้สร้างมนุษย์หลายมนุษย์ให้เปลี่ยนฐานะจากนักแสวงโชคบนกองกระดาษ กลายเป็นเจ้าสัวและนายห้าง และอาเสี่ยใส่แหวนเพชรพราวนิ้วมาแล้วแยะต่อแยะ ปรากฏการณ์เช่นนี้ จะเป็นเรื่องน่าขันหรือน่าเศร้าก็ตามแต่ แต่ความจริงข้อหนึ่งมีอยู่นานเต็มทีแล้วว่า หยดหมึกจากปากกานักเขียน มักจะกลายเป็นวิตามินและโปรตีน ถูกสูบไปหล่อเลี้ยงเลือดเนื้อของนายทุนผู้เกาะอยู่บนหลังนักเขียนให้อ้วนพีไปตามๆ กันเสมอ!


อิศรา อมันตกุล





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.