Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ป. อินทรปาลิต ในสกุลไทย





ที่มา: สารคดีรายงานพิเศษ : สกุลไทยรายสัปดาห์
ข้อเขียนโดย: ไพลิน รุ้งรัตน์
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณกวาง

ป. อินทรปาลิต นักประพันธ์มหัศจรรย์ของเรา

เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๑ ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาผ่านฟ้า เวลา ๑๗.๐๐ น. - ๑๙.๓๐ น. สโมสรถนนหนังสือ สโมสรนักสะสมกรุงเทพฯ ร่วมกับศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ ได้จัดให้มีการอภิปรายประกอบนิทรรศการ "๒๐ ปี ป. อินทรปาลิต" ในเรื่อง ป. อินทรปาลิตของเรา ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย

หนึ่ง ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้หนีกลิ่นน้ำหมึกไปศึกษาต่อจนได้เป็น ดร. มีอาชีพสอนหนังสือ แต่ก็ไม่ทิ้งงานเขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์ฟ้าหลายสี ในฟ้าเมืองไทย และจัดรายการวิทยุรุ้งหลายสี ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. เอเอ็ม ๑๔๙๔ แต่เช้าตรู่ งานอดิเรกเป็นอนุกรรมการบัญญัติศัพท์ของราชบัณฑิตยสถาน เป็นนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีสังคม เป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และที่สำคัญที่สุดคือเป็นนักอ่านเรื่องของ ป. อินทรปาลิต แม้กระทั่งในปัจจุบันทุกวันนี้ก็ยังอ่านอยู่ เวลามีเรื่องคับข้องใจจะอ่านหนังสือของ ป. อินทรปาลิต เพื่อผ่อนคลาย

สองคุณสมชาย กรุสวนสมบัติ หรือ ซูมแห่งไทยรัฐ เจ้าของคอลัมน์เหะหะพาที และคอลัมน์กีฬาในนามจ่าแฉ่ง หรือในนาม จิวแปะทง เขียน เซี่ยมล้อยุทธจักร อาชีพจริงๆ เป็นข้าราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการกองศึกษาและเผยแพร่การพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นคนที่ชอบอ่าน ป. อินทรปาลิต จนขึ้นชื่ออีกคนหนึ่ง และแน่นอนเป็นคนจังหวัดเดียวกับลุงเชย ของ ป. อินทรปาลิต คือ จังหวัดนครสวรรค์

สาม คุณวิลาศ มณีวัต นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงาน สายลมแสงแดด มีนามปากกาหลากหลายเช่น วิไล วัชรวัตร ฉางกาย และ ศราวณี เคยทำงานประจำให้สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. ลอนดอน ปัจจุบันเขียนหนังสือในนิตยสารหลายฉบับ รวมทั้งเป็นผู้จัดการให้ "หนอนหนังสือ" ออกมาคืบคลานในตลาดหนังสือ (อี๊อย...)

สี่ คุณฤทัย อินทรปาลิต เป็นบุตรชายคนโตของ ป. อินทรปาลิต กับนางไข่มุกด์ ปัจจุบัน รับราชการเป็นนายช่างระดับ ๘ อยู่ที่การประปาส่วนภูมิภาค ขณะนี้กำลังสนใจจะเขียนเรื่องของพ่อออกตีพิมพ์ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพชีวิตอีกหลายแง่มุมของ ป. อินทรปาลิต แม้ว่าลูกชายคือ ปริญญา อินทรปาลิต จะเขียนอยู่ด้วยก็ไม่กลัว ยืนยันว่า "วิดีโอเทปอัดครั้งแรกย่อมชัดเจนกว่า" เรียกเสียงฮาได้ทันที

ผู้ดำเนินรายการคือคนเดียวกับผู้รายงานการอภิปรายครั้งนี้ จัดระบบและระเบียบในการรายงานให้เข้ากลุ่มเพื่อสะดวกในการตามความคิด ซึ่งมีถ้อยคำสำนวนและเรื่องเล่าหลายตอนขาดหายไป เพราะไม่สามารถนำมารวบรวมไว้ได้ ทำให้บรรยากาศในการอภิปรายลดน้อยลงไปบ้าง ก็ขออภัยไว้ด้วย

ทำงานหนักวันละ ๒๐ หน้า

การอภิปรายเริ่มต้นที่ชีวิตการทำงานหนักของ ป. อินทรปาลิต คุณฤทัย อินทรปาลิต บุตรชายคนโตของเขาเล่าให้ฟังว่า ป. อินทรปาลิต เขียนต้นฉบับด้วยปากกา ลายมือสวยมาก อ่านง่าย และมีการเขียนหัวเรื่องอย่างประณีตบรรจง และในการเขียนต้นฉบับนั้นไม่มีเวลากำหนดแน่นอน นึกอยากเขียนเวลาใดก็เขียน ส่วนมากจะเขียนทั้งกลางวันกลางคืน วันหนึ่งๆ เขียน ๑๐๐ [หายไปหนึ่งบรรทัด] อ่อน)

คุณฤทัยเล่าว่า เมื่อ ป.อินทรปาลิตเขียนเรื่องเสร็จแล้ว ก็จะใช้ให้เขาเป็นคนเอาต้นฉบับนั้นไปขายที่โรงพิมพ์ โดยการขึ้นรถรางไป ได้ค่าจ้างประมาณ ๕๐ สตางค์ ครั้นพออายุได้ ๑๗ - ๑๘ คุณฤทัยก็ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นเลขานุการของผู้เป็นบิดา คอยอ่านต้นฉบับให้ด้วย และมีการแก้สำนวน ป.อินทรปาลิต บ้าง ตามความชอบของเด็กอายุ ๑๘

ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ได้กล่าวถึงการทำงานหนักของ ป.อินทรปาลิต ไว้ว่า

"รู้สึกว่าท่านจะทำงานหนักนะครับ ๒๐ หน้าต่อวัน ผมเคยเขียนหนังสืออย่างเดียว (ไม่ทำงานอื่น) อยู่พักหนึ่ง ตอนนั้นอยู่สิงคโปร์ ผมจะลองทดสอบว่าผมสู้ไหวไหม ตอนนั้นมีสำนักพิมพ์เขาซื้อเรื่องตลอด ไม่ว่าเรื่องแปล เรื่องเขียน อะไรก็ได้ทั้งนั้น ก็ลองทำทั้งวันๆ เต็มเหนี่ยว พิมพ์ด้วยนี่ก็ได้วันละ ๑๒ - ๑๕ หน้า พิมพ์ตั้งแต่เช้า แต่ผมก็ทำได้ไม่นาน ต่อเนื่องกันไปสักเดือนหรืออะไรนี่ มันก็สู้ไม่ไหว เพราะฉะนั้น ที่ ป.อินทรปาลิต ท่านทำได้ถึง ๒๐ หน้าต่อวันนี่ งานหนักนะครับ เพราะการเขียนหนังสือไม่เพียงหนักที่การเขียน หนักฝีมือ แต่มันเป็นแบบที่ฝรั่งเรียกว่า prolong concentration คือ มันจะต้องจดจ่ออยู่นานๆ จะเป็นงานที่หนักกว่างานใดๆ ทั้งสิ้น"

ชุดสามเกลอคือบันไดขั้นแรกของการอ่าน

งานของป.อินทรปาลิต ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในระดับตลาด นักอ่านหลายคนเริ่มต้นชีวิตการอ่านด้วยชุดสามเกลอ หรือเสือดำ เสือใบ ซูมแห่งไทยรัฐ เล่าพฤติกรรมการอ่านเรื่องของป. อินทรปาลิตไว้ว่า

"ผมเริ่มรู้จักอาป. (ซูมขออนุญาตเรียกว่าอา เพื่อให้เข้าชุดกับป๋าเปรมหรือน้าชาติ) เมื่ออายุ ๑๒ ขวบ กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมปีที่ ๔ ที่บรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เรื่องแรกที่อ่านก็คือเสือใบ" (ซูมอธิบายเพิ่มเติมว่า เสือใบคือชื่อของขุนโจรคนหนึ่ง ไม่ใช่แบบสมัยนี้นะครับ (ฮา))

ซูมเล่าถึงความรู้สึกที่ได้จากการอ่านว่า

"อ่านสนุกสนาน ตื่นเต้นและต้องแอบอ่าน เพราะผู้ใหญ่สมัยนั้นไม่อยากให้เด็กได้อ่านหนังสือพวกนี้ เพราะกลัวว่าจะเสียการเรียนหรืออะไรไม่ทราบ แต่ยิ่งแอบอ่านก็ยิ่งสนุกนะครับ มันเป็นธรรมดา ทำอะไรที่แอบก็ยิ่งสนุก (หัวเราะ) ผมก็อ่านจนกระทั่งอยากเป็นเสือ (หัวเราะ) ตามประสาเด็กๆ นะฮะ คิดฝันไป แต่เพื่อนๆ บอกว่าเป็นเสือไม่ได้ ให้เป็นหมู (ฮา) (ข้อนี้ฮาเพราะซูมออกจะตัวกลมๆ อยู่) ติดเสือใบอยู่นาน ต่อมาก็อ่านพล นิกร กิมหงวน เล่มแรกที่อ่านชื่อดงลับแล ลอกมาจากสาวสองพันปี ท่านว่าอย่างนั้น ก็เป็นเรื่องที่สนุกและประทับใจผมอยู่จนทุกวันนี้"

ซูมอ่านหนังสือของป. อินทรปาลิตจนได้ดี เขาเล่าว่า

"ผมยิ่งอ่านหนังสือพวกนี้ก็ยิ่งได้คะแนนดีขึ้นทุกทีๆ (หัวเราะ) เพราะการที่ผมอ่านหนังสือบ่อยๆ ทำให้ผมอ่านหนังสือแตก ชะลอหลังยาว อุดมเด็กดี นี่ผมเป๊ะเลย (หัวเราะ) ก็เลยสอบได้ที่หนึ่งทุกที"

ด้วยเหตุที่เรียนดีนี่เอง พ่อแม่จึงส่งเขามาเรียนหนังสือต่อในเมือง แทนการค้าขายอยู่ที่บ้าน

"ผมมาเรียนในเมือง ในระหว่างนั้นก็เป็นยุคที่ซูเปอร์แมนแกละออมาพอดี ผมก็เป็นแฟนติดตามด้วยความชื่นชม ฝันไปตามประสาเด็กว่า ในประวัติศาสตร์รู้สึกว่าเราจะรบแพ้คนอื่นอยู่เรื่อย ก็ได้อาศัยขุนพลแกละหรือซูเปอร์แมนแกละ ทำให้เกิดความรักชาติ..."

ผลของการอ่านหนังสือพวกนี้ที่มีต่อการเรียนก็ยังเหมือนเดิม

"ระหว่างนั้นการเรียนก็ดีอยู่เรื่อยๆ"

ซูมให้เหตุผลกี่ยวกับการอ่านจนได้ดีว่า

"อย่าง ป. อินทรปาลิต นี่ ผมถือว่าท่านเป็นครูประถมหรือครูอนุบาล ผมเห็นว่าครูทุกระดับจะต้องมีความหมายทั้งนั้น ผมเรียนจากท่าน (ป. อินทรปาลิต) มันทำให้เราข้ามชั้นไปอ่านเรื่องอื่นๆ ได้ ถ้าเราจู่ๆ มาจับสี่แผ่นดินกันเลย ผมว่ามันจะไม่ไหวนะครับ หลังจากการอ่านป. อินทรปาลิตแล้ว ผมก็ตามด้วยเล็บครุฑ สี่แผ่นดิน ในที่สุดก็ไปถึงเรื่องหนักๆ เรื่องแปล ซึ่งนี่ก็นับว่าเป็นบุญคุณประการหนึ่งของป. อินทรปาลิต ที่ช่วยทำให้ผมอ่านหนังสือแตกมากขึ้น"

อ่านเพื่อรู้จักประวัติศาสตร์บ้านเมือง

ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เล่าถึงสมัยสงครามอินโดจีน เมื่อปี ๒๔๘๓ - ๒๔๘๔ ว่า ประเทศมีลักษณะของการอยู่ในภาวะสงคราม ทุกวันเราก็อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุต่างๆ มีการต่อสู้กับฝรั่งเศส มีการเดินขบวน มีการสวนสนาม มีการเอาของขวัญไปให้ทหารอะไรต่างๆ ในช่วงนี้ ก็จะมีข่าวทหารอากาศเอาเรือบินไปบอมบ์ ศานิต นวลมณี เป็นวีรบุรุษฝ่ายทหารอากาศ ร้อยโทไชโย กระสินธุ์ เป็นวีรบุรุษฝ่ายทหารบก ฝ่ายทหารเรือก็มี หลวงพร้อมวีรพันธุ์

"วันหนึ่งก็มีคนเอาหนังสือมาให้ผมเล่มหนึ่ง ..." ดร.วิชิตวงศ์ เล่าถึงความสัมพันธ์กับป. อินทรปาลิต

"ผมก็นึกว่าจะเป็นเรื่องของสงครามอินโดจีน เพราะหนังสือชื่อนักบินจำเป็น ปรากฏว่าเป็นเรื่องของป. อินทรปาลิต ชุด พล นิกร กิมหงวน เป็นหนังสือเล่มแรกของป. ที่ผมอ่าน กิมหงวนเป็นพลปืนหลัง ไปบอมบ์อินโดจีน นักบินถูกยิงตาย พลปืนหลังต้องบังคับเครื่องบินลงที่ศรีโสภณ ก็กระโดกกระเดกเต็มที"

จากนั้น ดร.วิชิตวงศ์ก็ได้ใช้หนังสือของป. อินทรปาลิต แทนข่าวสาร

"ผมก็เลยกลายเป็นแฟนของพล นิกร กิมหงวน ติดตามอ่านเรื่อยมา และตอนนั้นก็เป็นเรื่องสนุก เท่ากับว่าไม่ต้องไปอ่าน นสพ. ไม่ต้องฟังวิทยุ อ่านพล นิกร กิมหงวน รายงานหมดเวลานี้ เวลาผมอยากรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสมัยนั้นๆ ผมก็จะเอาพล นิกร กิมหงวน มาอ่านอีกทีนะครับ เพราะผมไม่ค่อยเห็นที่ไหนเขาจดเอาไว้เหมือนกัน เรื่อยมาจนกระทั่งถึงตอนพักรบ สามเกลอก็กลับบ้าน งานฉลองรัฐธรรมนูญ กิมหงวนยังแต่งทหารไปยืนรอ พล นิกร อยู่ใต้ต้นโศกหน้าวังปารุสกวัน ลอง ผ่านไปสิครับ ยังอยู่เลยเดี๋ยวนี้ ต้นโศกนั่นน่ะ" (หัวเราะ)…

ส่วนซูมเล่าถึงเรื่องเหตุการณ์บ้านเมืองที่ปรากฏในหนังสือของป. อินทรปาลิต ว่า

"สมัยที่เรียนโรงเรียนเตรียมฯ พอดีช่วงนั้น โผน กิ่งเพชร ได้เป็นแชมป์โลกคนแรกของประเทศไทย อา ป. ของเราก็เขียนเรื่องไปดูโผน กิ่งเพชร ก็สรุปว่าทุกเรื่องของท่านจะเขียนถึงประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นตลอด มีอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งผมไปค้นเจอเมื่อเร้วๆ นี้คือเรื่องรับเสด็จฯ อ่านแล้วร้องไห้ สามเกลอไปยืนรอรับในหลวงของเราที่เสด็จฯ กลับมา เบียดเสียดคนจนตกน้ำอะไรทำนองนี้ ผมยังเสียดายที่ผมมาเจอหลังจากงานพิธีสำหรับพระเจ้าอยู่หัวผ่านไปแล้ว ไม่เช่นนั้น น่าจะนำมาพิมพ์หรือยกบางตอนมาอ่านกันอีกครั้ง..."

ฟังสองผู้อภิปรายแล้วนึกอยากให้มีใครสักคน อาจจะเป็นเริงไชย พุทธาโร ประมวลเรื่องราวออกมาว่ามีเล่มไหนเขียนถึงเหตุการณ์อะไร โดยยกเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ออกมาเปรียบเทียบไว้ด้วย แค่นี้ก็จะได้หนังสืออีกเล่มไว้อ่านกันแล้ว

แนวความคิดเพื่อชีวิตและก้าวไกล

ป.อินทรปาลิต เขียนเรื่องไว้เป็นจำนวนมาก แม้จะซ้ำตัวละคร แต่ก็หลากหลายในเหตุการณ์ต่างๆ และตัวละครเหล่านั้นโลดเต้นเป็นตัวหนังสือด้วยแนวความคิดหลักๆ ของป.อินทรปาลิต ซึ่ง ดร.วิชิตวงศ์สรุปไว้เป็นข้อๆ ดังนี้

ประการแรก คือทัศนคติของตัวละครหลักในชุดสามเกลอ "มีทัศนคติที่แปลกกว่าคนมีสตางค์ทั่วๆ ไป คือ รู้สึกเขม่นคนมีสตางค์ที่แสดงตัว อวดตัว อะไรต่างๆ นะครับ แล้วก็มีการเห็นอกเห็นใจคนซึ่งอ่อนแอกว่า จะเห็นได้ว่าถ้าใครเดือดร้อนอะไร อ่อนแอละก็ จะต้องเข้าไปช่วย..."

ประการที่สอง การใช้ชีวิตที่มีความมั่นใจและมีความรื่นเริง ป.อินทรปาลิตจะสะท้อนให้เห็นว่า "คนมีอัฐจะหน้าตาแจ่มใส เสียงดังฟังชัด คนไม่มีอัฐ ก็พูดจา...น่าสงสาร ทำอะไรไม่สำเร็จ หมดศักดิ์ศรี" แต่ในขณะเดียวกัน ป.อินทรปาลิต ก็สะท้อนภาพการใช้ชีวิตโดยทั่วไปว่า "การใช้ชีวิตต้องสนุก ต้องรื่นเริง ซึ่งผมก็รับมาเป็นปรัชญาในชีวิตประจำวัน แล้วความซื่อสัตย์สุจริตก็สอนเพียบพร้อมบริบูรณ์ ความกล้าหาญ ความรักชาติ..."

ซึ่งเรื่องความรื่นเริงนี้ คุณฤทัยได้ยืนยันลักษณะนิสัยส่วนตัวของป.อินทรปาลิตมาเสริมว่า

"ดั้งเดิมนิสัยท่านเป็นคนตลก คุยนี่ ท่านคุย ผมอ้าปากหวอ ฟังท่านตั้งแต่ ๖ โมงเย็น จนถึง ๓ ทุ่ม (ฮา) ท่านมีเกร็ดความรู้อะไรต่ออะไรแยะไปหมด"

ซูมได้กล่าวถึงแนวความคิดจากงานเขียนของป.อินทรปาลิตว่า

"ลักษณะข้อเขียนของท่านจะมีการประนีประนอมตลอดเวลา สังคมของท่านคือสังคมประนีประนอม เอาคนทุกชนชั้นเข้ามาอยู่ด้วยกันในบ้าน พยายามให้เกียรติทุกคน"

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้อภิปรายทุกคนก็ยืนยันความคิดและจินตนาการที่ก้าวไกลไปข้างหน้าของเขา

วิลาส มณีวัต ได้กล่าวถึงความก้าวไกลทางความคิดของ ป.อินทรปาลิต ว่า

"รู้สึกว่าเรื่องตลกของ ป.อินทรปาลิต นั้น แสดงปรีชาญาณไม่แพ้จูนส์ เวิร์ลด์ หรือใครๆ เรื่องในอนาคต คนไทยจะพูดภาษาอังกฤษกันนี่ เป็นการแชทไทร์ในแง่ประชดประชัน แต่มันก็เป็นความจริง เพราะเราเห่อฝรั่งกันมาก ก็ยังไม่ทันถึงหรอกครับ แต่เวลานี้นี่ หนังสือไทยแท้ๆ ก็เป็นอังกฤษไปหมดแล้ว คุณไปยืนอยู่หน้าแผงหนังสือสิครับ ไฮ คลาส ไม่ใช่สระไอ ฮอ นะครับ แต่เป็นเอชไอ หรือ เฮลโหล ไม่ใช่สระเอ ฮอ นะครับ แต่เป็น เอช อี เลยทีเดียว (หัวเราะ) มีอีก ยัง เอ็กเซ็กคูทีฟ (หัวเราะ) ทางขวามือล่ะ ลุคส์ ตัวแอลนะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าอีกสัก ๖ - ๗ ปี พูดภาษาอังกฤษกันหมด ผม ว่าก็ใกล้เคียงกันอยู่มาก"

"มีอีกเล่มหนึ่ง รหัส ๒๒๒ อันนี้เป็นทำนองเดียวกับ เอียน เฟลมมิง แต่รู้สึกว่าจะเขียนก่อนหลายปี อันนี้ผมสนใจ และผมรับรองว่าจะไปศึกษาดูว่าใครจะ 'เอียน' ก่อนกัน" (หัวเราะ)

ดร.วิชิตวงศ์ ได้กล่าวถึงเรื่องความก้าวไกลทางความคิดของป.อินทรปาลิต ว่า

"ก็ลองคิดดูนะครับ อะไรก็แล้วแต่ที่เรามาพูดกันในวันนี้นั้น ป.อินทรปาลิตเขียนไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจรวด หายตัว ย่อส่วนคน แม้กระทั่งสุดท้ายไปสู่อนาคต มองเห็นชัดเลยนะครับ ท่านพยายามวาดภาพประเทศไทย ๔๐ ปี จากปี ๒๕๑๐ ก็คือ ๒๕๕๐ ตามเรื่องบอกว่า ดร.ดิเรกสามารถทำให้ พล นิกร กิมหงวน เจ้าคุณปัจจนึก นี่ไปอนาคตได้ เรียกว่าสลายเซลล์แล้วมารวมตัวกันใหม่ ทำให้เห็นกรุงเทพมหานครในปี ๒๕๕๐ ก็ไปที่บ้านพัชราภรณ์ ก็ไปเจอคนเฝ้าบ้าน ก็ปรากฏว่าเป็นลูกไอ้แห้ว (ฮา) พวกสามเกลอก็ส่งภาษาไทยว่าบ้านใคร ปรากฏว่าลูกไอ้แห้วพูดภาษาอังกฤษ บอกว่าเขาเลิกใช้ภาษาไทยไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ และประกาศใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ที่จำได้พราะเป็นปีที่พ่อของมันคือเจ้าแห้วตาย..."

"อะไรต่ออะไรหลายเรื่องที่ป.อินทรปาลิตเขียนไว้ คอยดูเถอะครับ ผมว่าลองถ่ายรูปไว้ดูกัน มันใกล้เต็มทีแล้ว นี่รถลอยฟ้าเขาก็กำลังสร้าง หุ่นยงหุ่นยนต์ก็มีหมดแล้ว..."

อิทธิพลทางความคิดที่มีต่อคนอ่าน

ดร.วิชิตวงศ์ได้กล่าวถึงอิทธิพลทางความคิดที่ป.อินทรปาลิต มีต่อตัวเขาอย่างมากมายว่า

"เมื่อกลับมาจากเมืองนอกครั้งสุดท้ายเมื่อปี ๒๕๑๐ ผมก็มาอ่านข้อเขียนของสนิท เอกชัย ที่เอาป.อินทรปาลิตมาเขียนในเรื่องของยกสุดท้าย หรืออะไรน่ะ ตอนที่อ่านเรื่องนั้น ผมมีความรู้สึกว่าผมเป็นผู้ใหญ่พอที่จะไปหา หรือแนะนำตัวกับ ป.อินทรปาลิต (ดร.วิชิตวงศ์เคยเห็นป.อินทรปาลิตบ่อยๆ เมื่อสมัยทำหนังสือพิมพ์ประมาณปี ๒๔๙๐ แต่มัยนั้นไม่กล้าทัก เพราะรู้สึกว่าตนเองเป็นเด็กมาก) หรือไม่ก็บอกให้ท่านได้ทราบว่าท่านได้มีส่วนอย่างมากมาย หรือมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของผม ไม่ว่าผมจะคิดอะไร จะทำอะไร ได้อิทธิพลมาจากท่านผู้นี้มากกว่าใครๆ ทั้งสิ้นที่ผมเคยรู้จักมา แต่ก็ได้แต่ตั้งใจ เพราะได้ข่าวว่าท่านเสียเสียก่อน"

"โดยสรุป ที่ผมได้จากป.อินทรปาลิต มันได้หลายๆ อย่าง หรือมันจะมีเชื้อๆ เค้าๆ อยู่บ้างแล้วก็ได้นะ (หัวเราะ) เข้ามา มันก็เลยประสมกันไป ผมเกิดมาไม่ค่อยได้รับการสั่งสอนจากใคร มาเดี่ยวๆ ยังไงก็ไม่ทราบ (หัวเราะ) เมื่อมาอ่าน พล นิกร กิมหงวน ก็ได้เรียนรู้ว่า อ้อ คนเขาคิดกันอย่างนี้ คนเขาทำกันอย่างนี้ ไอ้เรื่องอย่างนี้ ต้องประพฤติอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้"

ดร.วิชิตวงศ์ ผู้ยึดพล นิกร กิมหงวนเป็นครูในชีวิต เสริมต่ออีกว่า

"ผมเรียนจาก พล นิกร กิมหงวน ต้องถือว่าเป็นหนังสือเรียนของผม เพราะหนังสือเรียนตามปกตินี่ ฟังไม่รู้เรื่อง (หัวเราะ) ครูสอนอะไรๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจ คนบางคนได้ความรู้จากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอะไรนี่ ผมก็ยังไม่รู้เรื่อง มาอ่านรู้เรื่องก็ต้อง พล นิกร กิมหงวน (หัวเราะ) เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่เป็นสิ่งดีหรือไม่ดี อะไรต่างๆ ที่ผมคิดอยู่เวลานี้ ได้มาจาก ป.อินทรปาลิตทั้งสิ้น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์" (ปรบมือ)

ดร.วิชิตวงศ์ยกตัวอย่างต่อว่า

"เรื่องทหาร เรื่องค้าขงค้าขาย แม้กระทั่งเรื่องวิทยาศาสตร์ก็เรียนรู้มาจาก พล นิกร กิมหงวนนี่แหละ เวลานี้ผมจับพลัดจับผลูได้มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ มาเป็นประธานของนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ผมก็ได้มาจาก พล นิกร กิมหงวน ทั้งสิ้น" (ฮา ปรบมือ)

ส่วนซูมได้เล่าให้ฟังว่าเพราะการได้อ่านงานของป.อินทรปาลิต ทำให้เขาใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน และมักจะทดลองส่งงานเขียนไปตามนิตยสารต่างๆ เป็นประจำ ซูมเล่าว่าเขายึดหลักการประนีประนอมของป.อินทรปาลิตเป็นแนวในการเขียนหนังสือ

"ผมยึดแนวนี้ ไม่ชอบการแบ่งแยก อยากให้คนรักกันและทำให้ทุกคนมีประโยชน์ ซึ่งผมคิดว่าเป็นอิทธิพลที่ผมได้มาจากป.อินทรปาลิตโดยไม่รู้ตัว ภาษายากๆ เขาเรียกว่าซึมลึกนะฮะ"

ซูมกล่าวว่า

"เมื่อพูดถึงภาษา ผมก็อยากจะเรียนว่าจริงๆ แล้ว ผมก็เอามาใช้หลายสำนวน ทุกวันนี้ก็ยังเอามาใช้บ่อยๆ อย่างถ้าหากว่ามีการดวลกันระหว่างเสือดำกับเสือขาว เสือขาวยิงเปรี้ยงไปที่หน้าอก เสือดำก็ต้อง 'ยกมือขึ้น ไขว่คว้าอากาศ' (หัวเราะ) นี่เป็นสำนวนที่ท่านใช้บ่อยที่สุด ถ้าเป็นผู้หญิงตกใจก็ต้องยกมือขึ้น 'ทาบอก' (ตอนนี้ซูมแกล้งออกเสียงว่า ทา - บอก ให้งงเล่นเล็กน้อย) แล้วเจ้าคุณปัจจนึกเวลาโกรธก็ต้องทำ 'ปากยื่น นัยน์ตาถลน' (หัวเราะ) หรืออีกกิริยาคือ 'ลืมตาโพลง' เวลามีอะไรตกใจ อีกสำนวนคือ 'ยืดอกในท่าเบ่ง' ถ้ามีใครไปชมเจ้าแห้วหรือใครก็ตามจะยืดอกในท่าเบ่งทันที..."

วิลาส มณีวัต ได้นำคำของ สันต์ เทวรักษ์ ที่เขียนไว้ในหนังสืองานศพของ ป.อินทรปาลิต มากล่าวสรุปสำนวนของป.อินทรปาลิต ว่า

"เรานับกันว่าท่านสุนทรภู่เป็นราชากวีของกลอนตลาด เราก็อาจนับป.อินทรปาลิต เป็นราชานักประพันธ์ร้อยแก้วสำนวนตลาดได้เหมือนกัน..."

อมตะนักประพันธ์ทันสมัยเสมอ

ด้วยเหตุที่ป.อินทรปาลิต มีจินตนาการกว้างไกลและหลากหลาย เรื่องของเขาจึงได้รับความนิยมทุกยุคทุกสมัย ซูมกล่าวว่า

"นับว่าท่านเป็นคนที่ไม่ตาย เพราะแม้ทุกวันนี้ก็ยังมีหนังสือของท่านเต็มท้องตลาด ผมก็ทดลองนะฮะ เผื่อว่าลูกจะได้เก่งมั่ง ก็เอาหนังสือของป.อินทรปาลิต ชุด พล นิกร กิมหงวน ไปให้มันอ่าน อ่านเหมือนกันนะครับ แต่น้อยกว่าซีโร กับดรากอนบอล (ฮา) แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องของป.อินทรปาลิต ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเรื่องประชาธิปไตย ที่ได้รับแจกในงานนี้ ผมอ่านแล้วผมก็ชอบมากเลย พล็อตเรื่องมีอยู่ว่า คุณหญิงวาดไปฟังไฮด์ปาร์คที่สนามหลวงแล้วก็ชอบใจ กลับมาบ้านก็เลยเรียกประชุมคนใช้ แล้วบอกให้เปิดไฮด์ปาร์คได้ในบ้าน เจ้าแห้วของเราก็เลยกลายเป็นหัวหน้าไฮด์ปาร์ค ยกลังสบู่มาตั้งแล้วขึ้นไปยืนไฮด์ปาร์คด่าคุณหญิงวาดทุกวัน (ฮา) จนคุณหญิงทนไม่ได้ สั่งเลิกไฮด์ปาร์ค เจ้าแห้วมันก็โกรธ มันก็ด่าคุณหญิง โดยขอยืมคำพูดของคุณควง (อภัยวงศ์) มาว่า

'ประชาธิปไตยของคุณหญิงเหมือนประชาธิปไตยในตุ่ม'

'คือเอาคนไปอยู่ในตุ่ม แล้วก็เอาฝามาปิดตุ่มแล้วขึ้นไปนั่งทับไว้ พอคนจะตายก็เปิดตุ่มมาให้หายใจทีหนึ่ง พอหายใจได้ก็ปิดตุ่มต่อไป'

นี่คือคำคมที่ไอ้แห้วมันพูดกับคุณหญิงวาด ซึ่งผมว่ามันตรงกับเหตุการณ์บ้านเมืองสมัยนี้ ๔๐ ปีที่ผ่านมา เราเปิดตุ่มปิดตุ่มกันอยู่นี่ ไม่ไปไหนสักที" (ปรบมือยาว)

"ทุกวันนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนะครับ มันอาจจะอยู่ในวาระที่กำลังเปิดตุ่มให้หายใจก็ได้" (ฮา)

ก็คงไม่ใช่นักเขียนสองท่านนี้เท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของป.อินทรปาลิต เราเชื่อว่าคงมีนักเขียนอีกหลายคนและนักอ่านอีกหลายคนที่เป็นไปแบบที่คุณซูมว่า คือ ซึมลึกมาโดยไม่รู้ตัว

ผู้ริเริ่มทางสำนวนภาษาไทยในนวนิยาย

แม้ว่า ฤทัย ผู้เป็นลูกชายจะเล่าด้วยน้ำเสียงแกมหัวเราะว่า "ท่านเป็นต้นตำรับของน้ำเน่า (หัวเราะ) พระเอกเป็นนักเรียนนอก เจอนางเอกเป็นคนใช้อยู่ในบ้าน นับไปนับมาเกิดเป็นญาติกันอะไรทำนองนั้น พ่อผมถนัดมาก" (หัวเราะ)

หรือ วิลาส มณีวัต จะยืนยันถึงเรื่องจารีตวรรณกรรมที่ทำให้งานของ ป.อินทรปาลิตไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร (จารีตวรรณกรรมเห็นว่างานของป.อินทรปาลิต เป็นงานสำนวนตลาด เป็นนวนิยายสิบสตางค์ นี่เป็นแนวความคิดของคนวรรณกรรมในสมัยที่ป.อินทรปาลิตมีชีวิตอยู่)

แต่งานของป.อินทรปาลิต ก็ยังมีผู้เห็นคุณค่าในหลายๆ ด้าน นอกจากด้านเนื้อหาสาระอย่างที่ ดร.วิชิตวงศ์ หรือ ซูมได้กล่าวไปแล้ว เรื่องสำนวนภาษาก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งได้รับการกล่าวขวัญมาก นอกจากจะเป็นผู้สร้างภาพและคำว่า "ลุงเชย" ให้กับวงวรรณกรรมแล้ว ยังเป็นต้นแบบสำนวนอีกหลายสำนวน

การอภิปรายในวันนั้นไม่ได้จบลงอย่างง่ายดาย มีการเล่าเรื่องย่อบางเรื่องที่สนุก และมีการถามคำถามบางคำถาม แววตาและสีหน้าของทุกคนเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะสลับเป็นครั้งคราวทั้งผู้พูดบนเวทีและผู้ฟังที่อยู่เบื้องล่าง ต่างมีหัวใจร่วมเป็นหนึ่งเดียวในผลงานของนักประพันธ์ไส้แห้ง แต่มีความเป็นอมตะนิรันดร์ในหัวใจนักอ่าน นาม ป.อินทรปาลิต คนนี้

คนเขียนหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนไทยทุกคน ควรขอบคุณเขาและจารึกนามเขา ป.อินทรปาลิต นักประพันธ์มหัศจรรย์





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.