Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ภาคนิพนธ์สามเกลอ



บทที่ 1

กรอบแนวทางในการศึกษาหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน

ความเป็นมาและความสำคัญของการศึกษา

วรรณกรรมชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน โดย ป. อินทรปาลิต ได้เริ่มออกสู่สายตานักอ่านเป็นครั้งแรกตั้งแต่ต้นปี 2482 และนับตั้งแต่นั้นมานักอ่านทั้งหลายก็ได้อ่าน พล นิกร กิมหงวน อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี คือ จนกระทั่งถึงปลายปี 2511 ซึ่งเป็นปีที่ผู้ประพันธ์ได้ลาจากโลกไป แต่สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ยังมีการพิมพ์ พล นิกร กิมหงวน ออกสู่ตลาดให้แฟนๆ นักอ่านได้หาความบันเทิงกันต่อมาอีกหลายปี ตลอดระยะเวลานั้น ป. อินทรปาลิต ได้ประพันธ์ พล นิกร กิมหงวน ออกสู่สายตาสาธารณชนกว่าหนึ่งพันตอน และเป็นข้อสังเกตว่าวรรณกรรมที่ถูกประพันธ์ออกมาในแต่ละยุคสมัย ย่อมสะท้อนสภาพสังคมของยุคสมัยนั้นๆ และนวนิยายเป็นงานประพันธ์ที่สามารถสะท้อนถึงบริบทต่างๆ ในวิถีชีวิตจริงของคนในสังคมได้มากที่สุดและดีที่สุด ดังนั้น วรรณกรรมชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ซึ่ง ป. อินทรปาลิตได้ประพันธ์ออกมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี ย่อมสามารถสะท้อนถึงบริบทต่างๆ ของสังคมไทยในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี แต่ในที่นี้ผู้เขียนจะขอศึกษาเฉพาะภาพสะท้อนและนัยความบางประการทางการเมืองซึ่งสะท้อนอยู่ในวรรณกรรมชุดสามเกลอเท่านั้น เนื่องจากข้อจำกัดในหลายๆ ประการด้วยกัน เช่น ด้านพรมแดนทางความรู้ของผู้เขียน เป็นต้น

และเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านระยะเวลาในการศึกษา ประกอบกับปริมาณของหัสนิยายชุดสามเกลอที่มีมากมายกว่าหนึ่งพันตอน แต่ได้สูญหายหรือไม่มีการพิมพ์จำหน่ายแล้วเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนจึง จำต้องวางขอบเขตในการศึกษาหัสนิยายชุดนี้ในระยะเวลาเพียง 19 ปี โดยจะเริ่มจากปี 2482 ถึงปี 2500 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่การเมืองการปกครองไทยอยู่ภายใต้การนำของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 โดยมีการเว้นช่วงระหว่างครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 เพียง 3 ปีเศษ ซึ่งในช่วงระยะเวลาสั้นๆ นี้ ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลพลเรือนถึง 10 คณะ และมีนายกรัฐมนตรีถึง 7 ท่าน ดังนั้น การศึกษาการเมืองไทยในช่วงปี 2482 ถึงปี 2500 จึงสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และยังได้เห็นบทบาททางการเมืองที่สำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงครามอีกด้วย

วัตถุประสงค์และสมมติฐานในการศึกษา

การศึกษานี้จะมุ่งศึกษาวิเคราะห์วรรณกรรมชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ว่ามีเนื้อหาอันสามารถสะท้อนถึงบริบทและนัยความหมายบางประการทางการเมืองตั้งแต่ปี 2482 ถึงปี 2500 เพื่อให้ทราบถึงสภาพการเมืองการปกครองของประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวและเป็นการขยายขอบเขตทางความรู้และการศึกษาในสาขาวิชารัฐศาสตร์

สมมติฐานในการศึกษา คือ ในระยะเวลา 30 ปี ที่ ป. อินทรปาลิตได้ประพันธ์หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ออกมานั้น การเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการเหล่านั้นย่อมสะท้อนอยู่ในวรรณกรรมที่ถูกประพันธ์ขึ้นในขณะนั้น โดยในที่นี้จะทำการศึกษาในระยะเวลาเพียง 19 ปี คือ เริ่มจากปี 2482 ซึ่งเป็นปีที่หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ออกสู่สายตานักอ่านเป็นครั้งแรก ถึงปี 2500

การศึกษาในครั้งนี้ผู้เขียนได้ศึกษาบริบททางการเมืองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจในการศึกษาภาพสะท้อนนัยความหมายทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน และยังจะได้เห็นถึงบทบาททางการเมืองที่สำคัญของจอมพล ป. พิบูลสงครามด้วยส่วนหนึ่ง

ขอบเขตในการศึกษา

เป็นการศึกษาบริบททางการเมืองเพื่อสร้างพื้นฐานในการทำความเข้าใจภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน

เป็นการศึกษาวรรณกรรมชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน เพื่อศึกษาภาพสะท้อนของการเมืองไทยที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องดังกล่าว โดยจะศึกษาในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2482 จนถึงปี 2500 เป็นระยะเวลา 19 ปี

ในการศึกษาหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ผู้เขียนทราบดีว่าการนิยามความหมายของ "การเมือง" อาจแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

1. ความหมายทางการเมืองแบบกว้าง หมายถึง การมองมนุษย์เป็นสัตว์การเมือง และสังคมของมนุษย์เป็นสังคมการเมือง เช่น การนิยามว่าการเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ เป็นการมองว่าอำนาจมีอยู่ทุกหนทุกแห่งในชีวิตของเราและอำนาจทำงานอยู่ตลอดเวลา การศึกษาการเมือง คือ การศึกษาการทำงานของอำนาจที่อยู่รอบๆ ตัวเรา

2. ความหมายทางการเมืองแบบแคบ หมายถึง การมองการเมืองเฉพาะการเมืองอย่างเป็นทางการ เช่น สถาบันทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง รัฐธรรมนูญ อุดมการทางการเมือง ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศ การปฏิวัติ การรัฐประหาร และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

ในการศึกษาครั้งนี้ผู้เขียนได้ใช้นิยามความหมายของการเมืองในความหมายทางการเมืองแบบแคบ โดยจะเป็นการศึกษาการเมืองแบบแคบหรือการเมืองอย่างเป็นทางการจากสิ่งซึ่งเป็นการเมืองแบบกว้างหรือการเมืองอย่างไม่เป็นทางการ เป็นการศึกษาภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองจากวรรณกรรมซึ่งมิใช่วรรณกรรมทางการเมือง

วิธีการในการศึกษา

1. ทำการศึกษาเอกสารและตำราต่างๆ เพื่อศึกษาถึงบริบททางการเมืองไทยในช่วง 19 ปี ที่ ผู้เขียนทำการศึกษาหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน

2. ทำการศึกษาวรรณกรรมชุดดังกล่าวเพื่อศึกษาภาพสะท้อนและนัยความหมายทาง การเมืองที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมชุดพล นิกร กิมหงวน โดยจะใช้วิธีการอ่านตามหลักการในการศึกษาและ ตีความวรรณกรรม คือ การตีความตามเจตนาของตัวบทหรือการอ่านตามใจความ เป็นการอ่านวรรณกรรมตามใจความที่ปรากฏอยู่ โดยผู้อ่านจะต้องมีความสันทัดทางภาษาและความสันทัดทางวรรณกรรม กล่าวคือ ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานในความรู้เกี่ยวกับหลักไวยากรณ์ โครงสร้างประโยค และความหมายของคำแต่ละคำ เพื่อให้มีความเข้าใจในความหมายของภาษา และจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักไวยากรณ์ โครงสร้าง และ องค์ประกอบทางวรรณศิลป์ รวมทั้งสัญนิยมทางวรรณกรรมและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งที่จะอ่าน เพื่อให้เรามีความเข้าใจในเจตนาของตัวบทวรรณกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ผู้เขียนจะทำการศึกษาภาพสะท้อนการเมืองไทยที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุดพล นิกร กิมหงวน ผู้เขียนนอกจากจะต้องมีความรู้ในหลักการใช้ภาษาแล้ว ยังต้องมีความรู้เกี่ยวกับบริบทของการเมืองไทยในขณะนั้นด้วย

ข้อจำกัด และอุปสรรคในการศึกษา

1. ข้อจำกัดสำคัญในการศึกษาครั้งนี้ก็คือ เงื่อนไขด้านระยะเวลาในการศึกษาซึ่งมีไม่เพียงพอ

2. ข้อจำกัดด้านทุนทรัพย์ เนื่องจากปัจจุบันหนังสือ พล นิกร กิมหงวน จำนวนมากถูกจำหน่ายในฐานะของสะสม และโบราณวัตถุ จึงมีราคาสูงมาก เป็นผลให้เกิดข้อจำกัดเรื่องทุนทรัพย์ในการจัดหาจัดซื้อและรวบรวมวรรณกรรม

3. อุปสรรคในการทำการศึกษาคือ ความยากลำบากในการค้นหารวบรวมวรรณกรรม เนื่องจากผู้ประพันธ์หัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ได้มอบลิขสิทธิ์ในการพิมพ์จำหน่ายให้กับหลายสำนักพิมพ์ต่างๆ กันในขณะที่ทำการประพันธ์ พล นิกร กิมหงวน ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในการประพันธ์ช่วงแรกได้จำหน่ายให้กับสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ ในระยะต่อมาก็มีสำนักพิมพ์อื่นๆ เช่น บรรณาคาร เขษมบรรณกิจ บันดาลสาส์น ผดุงศึกษา ฯลฯ และหลายๆ สำนักพิมพ์ที่มีลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หัสนิยายชุดสามเกลอได้เลิกกิจการไปแล้ว และต้นฉบับของหัสนิยายชุดดังกล่าวก็ได้สูญหายไป หรือหากไม่สูญหายก็ไม่มีสำนักพิมพ์อื่นนำมาพิมพ์จำหน่าย เนื่องจากปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์ หรือบางสำนักพิมพ์ยังคงดำเนินกิจการอยู่แต่ก็ไม่ได้ทำการพิมพ์หัสนิยายชุดสามเกลอออกจำหน่าย เนื่องจากความต้องการของผู้อ่านได้เปลี่ยนแปลงไป มีผู้สนใจอ่านหัสนิยายชุดสามเกลอน้อยไม่คุ้มค่ากับการพิมพ์ออกมาจำหน่าย

4. ระยะเวลา 30 ปี ที่มีการประพันธ์และพิมพ์ พล นิกร กิมหงวน ออกจำหน่าย หลักฐานการพิมพ์ ลิขสิทธิ์ต่างๆ เกิดการสูญหายและสับสนเป็นอย่างมาก บางสำนักพิมพ์ก็จัดพิมพ์พล นิกร กิมหงวน ออกมาเป็นครั้งที่ 2 ที่ 3 และครั้งต่อๆ มา โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อตอนเสียใหม่ ก่อให้เกิดการยากลำบากในการแสวงหาและเรียงลำดับวรรณกรรม

5. อุปสรรคอีกประการหนึ่งก็คือ การที่วรรณกรรมในชุดดังกล่าวมีจำนวนมาก โดยคาดว่าอาจมีมากกว่าหนึ่งพันตอน และไม่มีผู้ใดมีไว้ในครอบครองอย่างครบถ้วน รวมทั้ง ไม่มีผู้ใดทราบอย่างแน่นอนว่าวรรณกรรมชุดดังกล่าวมีจำนวนทั้งหมดเท่าใด แม้แต่ตัวผู้ประพันธ์เองและทายาท เป็นผลให้การค้นคว้าและรวบรวมวรรณกรรมชุดสามเกลอกระทำได้อย่างยากลำบาก

เนื้อหาสาระสำคัญ

บทนำ ผู้เขียนกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
บทที่ 1 กรอบแนวทางในการศึกษาหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
บทที่ 2 เกี่ยวกับผู้ประพันธ์และหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
2.1 เกี่ยวกับผู้ประพันธ์
2.2 เกี่ยวกับหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
- แนะนำตัวละครสำคัญ
- เนื้อเรื่องย่อ
- การแบ่งยุคของหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
1) การแบ่งโดยชมรมนักอ่านสามเกลอ
2) การแบ่งตามวิวัฒนาการทางสังคมไทย
3) การแบ่งตามสภาวการณ์ทางการเมืองไทย ซึ่งผู้เขียนเป็น ผู้จัดแบ่งขึ้น เพื่อความสะดวกแก่การศึกษา และทำความเข้าใจภาพสะท้อนหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน โดยแบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

3.1 ยุคที่หนึ่ง ประพันธ์ในช่วงต้นปี 2482 ถึงปลายปี 2483 เป็นช่วงหลังจากที่สยามประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาได้เกือบ 10 ปีแล้ว การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเริ่มมีความชัดเจนเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น ประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับการเมืองระบอบใหม่ ยุคนี้อยู่ในระยะแรกของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งที่ 1
3.2 ยุคที่สอง ประพันธ์ในช่วงปลายปี 2483 ถึงปลายปี 2490 เป็นช่วงที่การเมืองไทยและการเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมายหลายประการ เป็นช่วงเวลาของการเกิดสงครามสลับกับสันติภาพ และความวุ่นวายทางการเมือง การเมืองไทยมีทั้งช่วงที่พยายามจะเป็นประชาธิปไตยและช่วงที่เป็นเผด็จการ ยุคนี้อยู่ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 1 และรัฐบาล พลเรือนหลายๆ คณะที่ผลัดกันเป็นรัฐบาลช่วงสั้นๆ
3.3 ยุคที่สาม อยู่ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่ 2 เป็นยุคแห่งการก่อการรัฐประหาร ความขัดแย้งทางการเมือง การใช้ความรุนแรงและการปราบปรามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ความหวาดระแวงและภัยมืดทางการเมือง
3.4 ยุคที่สี่ ประพันธ์ในช่วงปลายปี 2501 ถึงปลายปี 2511 เป็นช่วงที่การเมืองไทยถูกแช่แข็งโดยการปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยม แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซึ่งในยุคที่สามนี้ผู้เขียนมิได้ทำการศึกษาถึง
บทที่ 3 การศึกษาภาพสะท้อนและนัยความหมายทางการเมืองจากหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน
ตอนที่หนึ่ง ภาพสะท้อนและนัยความหมายบางประการทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ยุคที่หนึ่ง
ตอนที่สอง ภาพสะท้อนและนัยความหมายบางประการทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ยุคที่สอง
ตอนที่สาม ภาพสะท้อนและนัยความหมายบางประการทางการเมืองที่ปรากฏอยู่ในหัสนิยายชุด พล นิกร กิมหงวน ยุคที่สาม
บทที่ 4 บทสรุป




All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.