Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

หวย ก. ข.





ที่มา: ย้อนอดีต "หวยไทย" จาก วารสารตราไปรษณียากร ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๔๖ คอลัมน์ ปกิณกะ
โดย: "ไพโรจน์"
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณต่อ

การพนันอาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่เคียงคู่กับสังคมไทยมาโดยตลอดก็ว่าได้ นับจากอดีตจวบจนถึงปัจจุบัน การพนันขันต่อก็ไม่เคยลืมเลือนหายไปจากสังคมไทย แต่ในความเป็นจริงนั้นไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน ในทั่วทุกมุมโลก การพนันต่างก็เป็นที่นิยมชมชอบเคียงคู่ผูกพันกับสังคมชาติต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างแพร่หลาย มิหนำซ้ำยังเป็นการเปิดให้มีการเล่นกันอย่างเสรี และเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปอีกด้วย และสำหรับในหลาย ๆ ประเทศ รายได้หลักของประเทศก็มาจากบ่อนการพนันเสียด้วยซ้ำไป

และในโอกาสที่ประเทศไทยจะมีการนำเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบการเลือกซื้อหวย หรือที่เรารู้จักกันใน "หวยออนไลน์" ซึ่งเป็นระบบที่นักพนันสามารถเลือกซื้อเลขหวยเลขเด็ดตามความพึงพอใจของตนเอง โดยไม่ต้องเสียอารมณ์ไปหาซื้อแล้วไม่ได้เลขหวยที่ตนเองอยากได้ตามแหล่งจำหน่ายอีกต่อไป เราลองมาดูเรื่องราวความเป็นมาของหวยในประเทศไทยกันก่อนดีกว่า

การพนันในประเทศไทย ก็มีการเล่นกันอย่างแพร่หลายตามท้องถิ่นต่างๆ และรูปแบบของการเล่นก็แตกต่างกันออกไป ซึ่งการพนันต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ถึงกระนั้นคนก็ยังพยายามหาทางที่จะเล่นกันโดยหลบเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ สำหรับการพนันในประเทศไทยที่ถือเป็นการพนันที่เปิดให้มีการเล่นกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในประเทศไทยก็คือ "หวย ก ข" (อ่านว่า หวย กอ ขอ) ซึ่งคำว่า "หวย" นั้น มาจากภาษาจีนที่เรียกว่า "ฮวยหวย" เป็นการพนันประเภทหนึ่งที่นิยมเล่นในประเทศจีน ต่อมาชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทยได้นำเข้ามาเผยแพร่ตั้งแต่ครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โดยมูลเหตุที่ทำให้มีการเปิดการเล่นการพนัน "หวย ก ข" อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในแผ่นดินไทยก็มาจากปัญหาการขาดเงิน ไม่มีเข้าท้องพระคลัง พระยาอินทรอากรจึงถวายบังคมทูลให้ทรงออกหวย ก ข เพื่อหาเงินเข้าท้องพระคลัง และได้เริ่มต้นเก็บผลประโยชน์อันเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยใช้วิธีผูกขาด จากการเปิดประมูลผู้ให้เงินภาษีสูงเป็นหลัก และการเก็บผลประโยชน์ที่ว่านี้ก็เป็นที่มาของการเก็บอากรบ่อนเบี้ย อากรหวย ก ข ในเวลาต่อมานั่นเอง

โดยมากแล้วผู้ชนะการประมูลจะผูกขาดกับการเป็นนายบ่อน ส่วนใหญ่มักเป็นคนจีน พวกชนชาวจีนจะเรียกกันว่า "ยี่โกฮง" หรือ "เจ๊สัวหง" และนายบ่อนเหล่านี้จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนบานเบิกบุรีรัตน์ รับตำแหน่งเป็นข้าราชการในกรมท่าซ้าย คนจึงมักเรียกติดปากกันว่า ขุนบาน ขุนบานคนสุดท้ายชื่อ ฮง เตชะวณิช ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระอนุวัตร์ราชนิยม ประชาชนก็คงเรียกเจ้ามือหวยเป็น "ขุนบาน" หรือ "ยี่โกฮง" อยู่ตามเดิม

การส่งภาษีอากรบ่อนเบี้ย อากรหวย ก ข ให้รัฐบาลนั้นเมื่อผู้ประมูลชนะการประมูลแล้ว จะต้องนำส่งค่าภาษีเท่าจำนวนภาษี ๓ เดือนแรกของปี ภาษี ๓ เดือนแรกนี้ รัฐบาลเอาเป็นรายได้ ๑ เดือน กันไว้เป็นเงินประกัน ๒ เดือน ต่อจากนั้น เจ้าภาษีนายอากรต้องจ่ายให้ราชการทุกเดือนเป็นจำนวน ๑/๑๒ ของภาษีที่ประมูลทั้งปีไปอีก ๑๐ เดือน เพราะ ๒ เดือนหลังราชการได้ยึดเป็นประกันไว้แล้ว นายอากรร่ำรวยทุกคน ไม่เคยมีใครเดือดร้อนส่งภาษีไม่ได้

ในสมัยนั้น การออกหวยจะมีลักษณะการออกเป็นรอบ ๆ โดยวันหนึ่ง ๆ จะแบ่งเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย สำหรับหวยเช้าจะเปิดให้นักพนันเริ่มแทงหวยกันในเวลาบ่ายสี่โมงเย็น ไปจนถึงเวลาหวยเช้าออก นั่นคือเวลา ๐๒.๐๐ น. ของวันใหม่ ส่วนหวยค่ำก็จะเริ่มเปิดให้แทงกันหลังจากหวยเช้าออกกันไปแล้ว แล้วจะออกหวยกันในตอนเวลา ๑๔.๐๐ น. ของวันเดียวกันนั้น โดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของขุนบาน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเล่นหวยและเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้ที่จะมาแทงหวย ซึ่งถือเป็นกิจการใหญ่ประดุจองค์การค้าที่สำคัญจะมีการตั้งผู้แทนทั่วไปขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด สำหรับในกรุงเทพฯ นั้นเป็นหน้าที่ของขุนบานเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยจัดผู้แทนออกเป็นแขวงๆ แต่ละแขวงยังคุมลูกหมู่ของตนอย่างรัดกุม คือจัดวางโต๊ะเป็นตัวแทนให้ลูกค้ากล่าวคือ ผู้แทงหวยจะมาทำการติดต่อแล้วเลือกแทงตัวหวยที่ตัวเองชอบ โดยจะชำระค่าหวยเป็นเงินสด และมีการออกใบตอบไว้เป็นหลักฐานให้ แล้วเจ้าหน้าที่จึงลงรายการในสมุดบัญชี (โผ) แล้วจึงประทับตรา และส่งใบสำคัญที่เรียกว่า โพยหวย ไปยังสำนักงานกลาง คือ โรงหวย และผู้แทนต่างๆ เหล่านี้ ยังทำหน้าที่รับจ่ายเงินให้ด้วย กิจการนี้นับว่าทำกันอย่างสมบูรณ์แบบเลยทีเดียว ทั้งรวดเร็วและซื่อสัตย์ ทำให้เป็นที่นิยมแพร่หลายกันในวงการพนันและหมู่นักเล่นหวย ไม่เคยมีกรณีผู้เล่นแทงถูกแล้วเจ้ามือรับเงินกลับล่องหนเหมือนพวกหวยเถื่อนอย่างที่พบเห็นกันในปัจจุบัน ส่วนสาขาในต่างจังหวัดนั้น การรับแทงหวยก็มีเอเย่นต์เป็นตัวแทนแต่ละจังหวัด ขุนบานเป็นผู้ร่วมทุนด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ขุนบานลักลอบดักแทงเสียเอง เพราะหวยที่ออกต้องใช้หวยที่กรุงเทพฯ เป็นบรรทัดฐาน

การออกหวยนั้น จะทำกันต่อหน้าประชาชน แต่จะทำการออกภายในอาคารที่กว้างใหญ่ แบบศาลาโถง ทำด้วยไม้รูปสี่เหลี่ยมยกสูงจากพื้น ซึ่งคนทั่วไปเรียกติดปากกันว่า "โรงหวย" โรงหวยที่ขึ้นชื่อที่สุดเป็นโรงหวยที่ตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนหนาแน่นใจกลางพระนคร โดยจะตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนคร ทิศเหนือติดต่อกับกำแพงเรือนจำ กองลหุโทษ ทิศตะวันออกเชื่อมต่อจากถนนมหาชัย ส่วนทิศใต้เชื่อต่อออกมายังถนนเจริญกรุง (ปัจจุบันก็คือ บริเวณสวนสาธารณะรมณีนารถ นั่นเอง) และบริเวณด้านหน้าของโรงหวยจะเป็นลานกว้างขนาดใหญ่ โดยทางเข้าสู่โรงหวยจะถูกคั่นด้วยลูกกรงเหล็กโปร่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไปวุ่นวาย ภายในโรงหวยจะมีเจ้าหน้าที่ของขุนบานประมาณกว่า ๒๐๐ นาย นั่งตรวจบัญชีอยู่กับพื้นห้อง และที่ส่วนกลางของศาลา อันเป็นจุดแขวนป้ายตัวหวย ซึ่งตรงจุดนี้เป็นจุดสนใจที่สุดของเหล่านักพนันทั้งหลาย ถือเป็นจุดที่ทุกคนต้องใจจดใจจ่อเมื่อถึงเวลาออกหวย โดยป้ายตัวหวยที่ทำการแขวนไว้ ณ จุดแห่งนี้ จะถูกคุมไว้ด้วยผ้าสีแดงอย่างมิดชิด เมื่อถึงเวลาออกหวย เจ้าหน้าที่ของขุนบาน หรือ ยี่โกฮง จะแต่งตัวแบบงิ้วจีนทำการกราบไหว้แท่นบูชาที่ได้ตั้งไว้เพื่อเตรียมประกาศตัวหวย จากนั้นก็จะเดินมาชักผ้าแดงออก ณ วินาทีนั้น สายตานับร้อยนับพันก็จับจ้องเขม็งอยู่ที่จุดเดียวกัน ทันทีที่เจ้าหน้าที่ยื่นมือไปค่อย ๆ ดึงผ้าแดงลงมาทีละน้อย ๆ แล้วขยักไว้ให้โผล่แต่ส่วนบน ผู้คนก็เริ่มเอะอะเฮฮากันมากขึ้น เพราะลุ้นกันว่าจะออกเป็นตัวหวยอะไร พอชักออกหมด เสียงนักพนันก็ดังสนั่นขรมไปทั่วทั้งลานหน้าโรงหวย

การเล่นหวยในสมัยนั้น ผู้แทงหวยไม่ค่อยเฉลียวใจถึงแยบยลกลวิธีของขุนบาน ซึ่งอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ โดยคิดว่าการออกหวยเป็นวิธีการตรงไปตรงมา คือ การออกหวยคราวละสองตัวคือเช้ากับค่ำ การที่จะออกพร้อมกันทั้งสองตัวก็ย่อมทำได้ ไม่เป็นการยากเย็นอะไร แต่ขุนบานก็มิได้ทำเช่นนั้น พอเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาที่เก็บโพยบรรดาแขวงหรือเอเย่นต์ทั้งหลายก็จะทำการรับรวบรวมบัญชีส่งไปยังสำนักงานกลางให้หมด เป็นการตัดตอนมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งไปแทงหวยเพิ่มเติม พอหลังจากหวยได้ออกแล้วเจ้าหน้าที่ของขุนบานที่ปฏิบัติงานอยู่ในศาลาโรงหวยก็จะทำหน้าที่สำรวจโพยที่ส่งมาทั้งหมดอย่างขะมักเขม้น โดยการแยกโพยออกเป็นประเภทต่าง ๆ เช่น ประเภทสถิติก็จะเก็บสถิติ ผู้แทงตัวใดสูงในระยะที่ผ่านมาเป็นการเดาใจประชาชนว่ากำลังติดพัน หรือดักแทงตัวหวยตัวใดบ้างในอัตราสูง สำรวจตัวที่แทงหวยตัวเช้าถูกมีตัวอะไรบ้าง ขุนบานก็จะเลี่ยงออกตัวเหล่านั้นในวันรุ่งขึ้น เมื่อการคิดบัญชีจ่ายเงินสำรวจตัวที่ออกเป็นหวยค่ำในคืนวันนั้น ว่าสมควรจะออกตัวใด จึงจะให้กำไรสูง ฯลฯ เพราะฉะนั้นแยบยลกลไกของการออกหวยจึงเป็นวิธีการที่ลึกลับซับซ้อน และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากขุนบานเป็นอย่างดี และต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว ฉับไวและแม่นยำ ขุนบานอาจจะพลาดได้ ถ้าหากคนเหล่านั้นไม่ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่หรือให้ข้อเท็จจริงผิดพลาด

สำหรับผู้ที่มีความรู้เท่าทัน หรือพวกนักพนันหัวหมอ จะไม่ยอมเสียเปรียบขุนบาน โดยใช้วิธีแทงหวยที่เรียกว่า "หวยหิ้ง" โดยนำเงินเดิมพันพร้อมกับตัวหวยไปผู้แขวนไว้ที่หน้าโรงหวย จะเปิดกันออกมาดูกันก็ต่อเมื่อหวยได้ออกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับว่าวิธีการนี้เป็นการให้ความเป็นธรรมอย่างดียิ่งทั้งเจ้ามือและนักพนัน

แรกเริ่มเดิมที หวย ก ข ในประเทศไทย จะทำการใช้แผ่นไม้สำหรับเขียนหวยให้คนเลือกแทง โดยนำรุปแบบตัวหวยแบบจีนมาใช้เป็นการเอาชื่อคนในนิทานจีน ๓๖ คน มาเขียนเป็นรูปภาพมีตั้งแต่ตัวเจ้าเมือง ชื่อว่า ไท้เผ็ง มีขุนนางเป็นจอหงวน ๔ คน เป็นพระ ๖ องค์ นอกจากนั้นเป็นผู้หญิงบ้าง คนโซบ้าง คนชั้นเสือบ้าง รวมทั้งบุคคลประเภทต่าง ๆ ด้วย บุคคลเหล่านี้ยังเป็นเจ้าขุนมูลนายและญาติพี่น้องกันเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ประโยชน์ก็เพื่อที่จะให้จำกันได้ง่าย และเกิดความสนใจแก่ผู้ชอบเล่นหวย สมมุตว่าเป็นตัวหวยบ้าง เขียนทั้งคนและตัวหนังสือภาษาจีนกำกับลงพร้อมบ้าง พร้อมรูปสัตว์อันสมมุติว่าเป็นชาติก่อนของคนในนิทานทั้ง ๓๖ คนบ้าง ยังไม่มีตัวหนังสือไทย

โดยในบรรดาตัวหวยที่ได้นำมาใช้ในการออกหวยในสมัยแรกเริ่มนั้น จะเป็นตัวแสดงงิ้วจีนชื่อแตกต่างกันออกไป จำนวน ๓๖ ตัว ซึ่งจะประกอบกันอยู่ในทำเนียบตัวหวย นอกจากนี้แล้วยังมีบทกลอนกำกับ จนเป็นที่จดจำของนักพนันได้อย่างแม่นยำ ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ตัวที่หนึ่งชื่อ ก. สามหวยมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้าสวมหมวกสามแฉกเป็นเส้นฉาก หนวดที่ปากแดงจ้าหน้าเป็นศรีชื่อสามหวยสวยนักเป็นจักรี นางชะนีมาเกิดกำเนิดนาม
ตัวที่สองชื่อ ข. ง่วยโป๊มีบทกลอนกำกับไว้ว่า ง่วยโป๊นั้นกำเนิดเกิดเป็นเต่า แต่เข้าเฝ้าเช้าเย็นไม่เห็นฉัน อดอาหารได้จิรงไม่ยิงฟัน ถือพระจันทร์ชูไว้มิได้วาง
ตัวที่สามชื่อ ฃ. เจียมขวยมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจียมขวยเป็นปลานั้นมาเกิด พักตร์สวยเลิศคิ้วคางก็คมสัน ต้องเข้าเฝ้าเช้าเย็นเป็นนิรันดร์ เป็นเขยขวัญท่านไท้เผ็งทรงเมตตา
ตัวที่สี่ ชื่อ ค. ฮะตั๋งมีบทกลอนกำกับไว้ว่า สองแม่คำหอยแครง ค.ฮะตั๋ง ดูเนื้อหนังพักตร์นวล อ้วนหนักหนา ปากก็หวานตั้งร้านขายสุราอยากขึ้นมาก็รินกินเอาเอง
ตัวที่ห้า ชื่อ ฅ. เม่งจมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เม่งจูปลาตะเพียนมาเกิดนั้น บอกสำคัญชาติก่อนเป็นฮูหยิน มีลูกอ่อนนอนเห็นว่าเล่นจริง ไม่ประวิงรักบุตรเป็นสุดใจ
ตัวที่หก ชื่อ ฆ. ยี่ซัวมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงจีน ฆ. ยี่ซัวนั้นตัวกลั่น กำเนิดนั้นเป็นไก่อยู่ไพรกว้าง คอยคุ้ยเขี่ยหากินไปตามทาง ก๊กต่าง ๆ สั่นหัวกลัวเต็มที
ตัวที่เจ็ด ชื่อ ง. จีเกามีบทกลอนกำกับไว้ว่า จีเกาคนเก่งนักเลงเก่า ทหารเอกเจ้า ธ. ไท้เผ็งเก่งนักหนา ขี่สิงโตออกชื่อคนลือชา มีฤทธาคนอ่อนน้อมยอมเกรงกลัว
ตัวที่แปด ชื่อ จ. หลวงชีมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงชีเดิมทีเป็นแมวป่า สิ้นชีวาขาดใจไปเป็นผี มาเกิดเป็นอันลือชื่อแม่ชี เที่ยวราวีตามตลาดบิณฑบาตเอย
ตัวที่เก้าชื่อ ฉ. ขายหมูมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ฉ.ขายหมูแมวลายตายมาเกิด แสนประเสริฐวิชาค้าขายหมู ครั้นใกล้รุ่งมันก็เรียกกันเพรียกพรู ให้จับหมูฆ่าขายกระจายไป
ตัวที่สิบชื่อ ช. ฮกชุนมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ช. ฮกชุนเป็นสกุลสุนัขขา ปีนขึ้นเขาหายาไปปะเสือ ไม่ทันหลบเสือขบลงเป็นเบือเลยเป็นเหยื่อพยัคฆ์ร้ายจนวายปราณ
ตัวที่สิบเอ็ดชื่อ ซ. แซหงวนมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ซ.แซหงวนนั้นเกิดกำเนิดไก่ มาแต่ไพรแมลงมุมนั่งสุมหัว กางเกงขาดยุงกัดมันหวาดกลัว คอยซ่อนตัวสุมควันป้องกันภัย
ตัวที่สิบสองชื่อ ฌ. ฮวยกัวมีบทกลอนกำกับไว้ว่า พักตร์ขาวขำสำอางขุนนางเจ๊ก เจ้าหนุ่มเด็ดฮวยกัวหัวเป็นขอ กำเนิดนั้นเป็นไก่ฟ้าพญาลอ ดูลออน่าเชยชมคมสันเอย
ตัวที่สิบสามชื่อ ญ. ย่องเซ็ง มีบทกลอนกำกับไว้ว่า ญ.ย่องเซ็งเดิมกำเนิดเกิดเป็นห่าน มันดื้อด้านเมื่อเล็กหลานเจ๊กเส็ง ครั้งเติบใหญ่ไวว่องชื่อย่องเซ็ง ท่านไท้เผ็งโปรดปรานประทานยศ
ตัวที่สิบสี่ชื่อ ด. กวงเหม็งมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้าม้าหมอกสีมัวนั้นตัวเก่ง ชื่อ กวงเหม็งหมอดูเป็นครูโหร ด้วยรู้ชัดจัดเจนไม่เอนโอน ช่างทายโดนไท้เผ็งว่าเก่งจริง
ตัวที่สิบห้าชื่อ ต. เรือจ้างมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ต. เรือจ้างนั้นเกิดกำเนิดหนู ไม่อยู่รูถ่อเรือจนเหงื่อไหล มีคนจ้างรับข้ามยังค่ำไป พอเลี้ยงกายเลี้ยงตัวไม่มัวมอม
ตัวที่สิบหกชื่อ ถ. พันกุ้ยมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ถ. พันกุ้ยนั้นเกิดกำเนิดสังข์ ชาติมังกรไม่สุภาพช่างหยาบจัง สองมือนั้นถือไม้ขจายจร มีเมียน้อยกลอยสวาททั้งสองคือ ชื่อเม่งจูและกิ้มเง็ก ดวงสมร มีบุตรสุดที่รักร่วมอุทร ทั้งสองนามกรต่างกัน ย่องเซ็งนั้นเป็นผู้พี่ ฮกชุนน้องนี้คนขยัน ทั้งสองร่วมเรียงเคียงกัน อยู่สุขทุกนิรันดร์วันคืน
ตัวที่สิบเจ็ดชื่อ ท. เซี่ยงเจียวมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ท. เซี่ยงเจียวเดิมทีนกนางแอ่น ดูอ้อนแอ้นเอวกลมสมทหาร ขึ้นขี่ม้าถือทวนกระบวนงาม ทหารยามตามเกี้ยวออกเพรียวพรู
ตัวที่สิบแปดชื่อ ธ.ไท้เผ็งมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้ามังกรไท้เผ็งเก่งฉกาจ คนขยาดออกชื่อลือหนักหนา เป็นเจ้าเมืองเรืองฤทธิ์อิศรา ชาวประชายอมตัวกลัวฤทธา
ตัวที่สิบเก้าชื่อ น. เทียนสินมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงจีนตัวลือชื่อเทียนสิน ท่าดีดดิ้นหนุ่มน้อยน่าพิศมัย เมื่อชาติก่อนเป็นปูชอบอยู่ไพร ไม่พอใจอยู่บ้านสำราญเมีย
ตัวที่ยี่สิบชื่อ บ. แจหลีมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงพี่ บ. แจหลีตะพาบน้ำ ชักประคำเสกคาถาจนตาเหลือง ต่อเมื่อใดหิวเข้าจึงเข้าเมือง นามประเทืองหลวงพี่แจหลีเอย
ตัวที่ยี่สิบเอ็ดชื่อ ป. กังสือมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้ามังกรมีเขาที่เลื่องลือ ชื่อกังสือบางครูว่างูหงอน บ้างก็ว่าหอยสังข์กลายมังกร เมื่อชิตก่อนเป็นไฮ้เล่งอ๋องเอย
ตัวที่ยี่สิบสองชื่อ ผ. เอียวหลีมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ผ. เอียวหลีผีช้างนั้นมาเกิด เดินเถิด ๆ หาเหยื่อนกตกฉลามมันกินเหล้าแต่ละทีถึงสี่ชาม เมาซุ่มซ่ามโงกหงับแล้วหลับไป
ตัวที่ยี่สิบสามชื่อ ฝ. ง่วนกุ่ยมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ฝ. ง่วนกุ่ยนั้นเกิดกำเนิดเป็นลิง บางคนว่าเป็นกุ้งดูยุ่งเหยิง เล่นละครเป็นลิงวิ่งกระเจิง เที่ยวเซาะเซิงซุ่มซ่ามไปตามกรรม
ตัวที่ยี่สิบสี่ชื่อ พ. กิ๊ดปิ๊นมีบทกลอนกำกับไว้ว่า พ. กิ๊ดปิ๊นเกิดกำเนิดแกะ เที่ยวจูงแพะเดินซุ่มซ่ามตามถนน เที่ยวงอนง้อขอร้องใส่ท้องตน ด้วยความจนซัดเซพเนจร
ตัวที่ยี่สิบห้าชื่อ ฟ. เกากัวมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ขุนนางจีนคนนี้เสียจริต เก็งไม่ผิด ฟ. เกากัวของเจ๊กเส็ง เป็นแซ่เตียวพวกไหหลำอยู่สำเพ็ง แต่เบาเต็งสักนิดจิตต์แปรปรวน
ตัวที่ยี่สิบหกชื่อ ภ. คุณซัวมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ภ. คุณซัวเสือโคร่งนั้นมาเกิด เอากำเนิดเป็นทหารกระบาลใส ทั้งเพลงทวนขวานกระบองก็ว่องไว เคยมีชัยทุกนัดแสนจัดเจน
ตัวที่ยี่สิบเจ็ดชื่อ ม. หุนหันมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ม. หุนหัน กำเนิดความตายมาเกิด แสนประเสริฐชาติทหารชาญชัยศรี พวกข้าศึกก็ไม่กล้ามาราวี แม่ทัพดีของไท้เผ็งเก่งสุดใจ
ตัวที่ยี่สิบแปดชื่อ ย. ฮ่องชุนมีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้านกยูงมาเกิดเป็นฮ่องชุน มีทั้งบุญทั้งสามารถฉลาดเฉลียว เป็นขุนนางจอหงวนเหมือนพ่อเชียว เป็นแซ่เตียวเกี่ยวข้องกับย่องเซ็ง
ตัวที่ยี่สิบเก้าชื่อ ร. กิมเง็กมีบทกลอนกำกับไว้ว่า นางผีเสื้อนั้นหรือชื่อกิมเง็ก น้องคนเล็กร่วมไส้ท่านไท้เผ็ง แต่อารมณ์ หล่อนสมัครรักสำเพ็ง เจ้าย่องเซ็งเป็นบุตรสุดที่รัก
ตัวที่สามสิบชื่อ ล. เทียนเหลียงมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงจีนหนุ่มร่างน้อยกลอยสวาท กำเนิดชาติเป็นปลาไหลอยู่ไพรสรร พนมมือถือพรตพรหมจรรย์ถือสัตย์มั่นภาวนาทุกราตรี
ตัวที่สามสิบเอ็ดชื่อ ว. แซหุนมีบทกลอนกำกับไว้ว่า หลวงจีน ว. แซหุนนกกระสา บางคนว่าเป็นกวางดงยังสงสัย ถือกั้นหยั่นหรือแซ่มาแต่ไกล สำรวมใจไว้ให้ดีมีปัญญา
ตัวที่สามสิบสองชื่อ ส. ฮะไฮ้มีบทกลอนกำกับไว้ว่า เจ้ากบใหญ่มีชื่อคือฮะไฮ้ เป็นลูกชายสามหวยสวยสดศรี มันเกิดก่อนเกากัวลูกหัวปี ถึงได้ดีเป็นขุนนางแต่ ปางบรรพ์
ตัวที่สามสิบสามชื่อ ห. หม้งหลิมมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ห. หม้งหลิมแซปึ้งเป็นผึ้งหลวง นั่งสวมหมวกเหมาะเหม็งกางเกงสั้น ความยากจนข้นแค้นแสนเอาการ ต้องตัดฟืนเผาถ่านการหากิน
ตัวที่สามสิบสี่ชื่อ ฬ. ง้วนกิ้ดมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ฬ. ง้วนกิ้ดเนื้อทรายตายมาเกิด เป็นกำเนิดง้วนกิ้ดคิดไฉน หน้าแข้งโปปุปะคละคลุ้งไป ทำบ้าไบ้ขอทานเป็นการบุญ
ตัวที่สามสิบห้าชื่อ อ. บ้วนกิมมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ชาติงูดิ้นสิ้นใจไปบังเกิด แสนดีเลิศทรัพย์มากปากก็หวาน ชื่อบ้วนกิมเศรษฐีมีบริวารคิดแต่การค้าขายหมายร่ำรวย
ตัวที่สามสิบหกชื่อ ฮ. เจี๊ยะสูนมีบทกลอนกำกับไว้ว่า ฮ. เจี๊ยะสูนหมูป่านั้นมาเกิด รูปสวยเลิศเป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง กิริยาแยบคายละม้ายลิง ทำสุงสิงเกี้ยวสาวพวกชาววัง

ครั้นต่อมา นายบ่อนคงเห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือจีนไม่ออกและพูดภาษาจีนไม่ได้ จึงคิดอ่านเอาตัวอักษรไทยเข้าหมายกำกับเพื่อให้ไทยรู้จักหวย ก็เกิดเป็นแผ่นไม้รูป ก ข เรียกคู่ไปกับชื่อคนในนิทานจีน จนกระทั่งติดปากคน จึงดูเหมือนว่า ก ข ค ง มีคำกำกับไปโดยปริยาย ทำให้เป็นบ่อเกิดหรือที่มาของแบบเรียน ก.ไก่ ของเด็ก ๆ จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งแต่เดิมยังไม่มีการเรียนในลักษณะเป็นกลอนท่องจำ (ก เอ๋ย ก ไก่ ข ไข่ในเล้า ฃ ฃวดของเรา...) และตัวพยัญชนะที่นำมาเขียนในตัวหวยนั้นจะมีเพียง ๓๖ ตัวอักษรเท่านั้น (ปัจจุบันมี ๔๔ ตัวอักษร) ขาดไป ๘ ตัวอักษร คือ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ศ ษ หลังจากที่ดัดแปลงเป็นหวยไทย โดยนำอักษรไทยเข้ากำกับเพื่อช่วยให้คนไทยจำได้ง่ายแล้ว ยังมีการแต่งบทกลอนเพื่อให้คล้องจองกับตัวหวยอีกด้วย เนื่องจากคนไทยเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน และยังเป็นการอ้างถึงกำเนิดเดิมกำกับไว้อีกเพื่อให้ผู้เล่นฝันเห็นสัตว์ต่าง ๆ หรือมีอาจารย์ผู้ให้หวยบอกใบ้ให้ก็สามารถแปลความออกเป็นตัวหวยที่ต้องการได้ ซึ่งวิ่งเหล่านี้เป็นผลที่น่าพอใจยิ่งทั้งเจ้ามือหวย รวมทั้งนักพนันทั้งหลายและในที่สุดผู้คนก็สามารถจดจำเลขหวยได้อย่างดียิ่ง ก็เลยเรียกการพนันหวยประเภทนี้ติดปากกันว่า หวย กอ ขอ

การเล่นหวย ก ข ถือเป็นการพนันขันต่อที่จูงใจผู้เล่นได้มากเพราะมีการเลือกแทงตัวหวยได้ตามใจชอบ แถมซ้ำมีให้แทงกันแทบทุกวัน ผิดกันกับสลากกินแบ่งของรัฐบาลหรือลอตเตอรี่ที่มีขายกันเกลื่อนกลาดตลาดในปัจจุบัน ซึ่งจะเลือกเบอร์แทงได้ลำบากและมีการออกเพียงเดือนหนึ่งสองหน นอกจากนี้แล้วหวย ก ข ยังมีการออกแบบหวยเช้าและหวยค่ำ ซึ่งจะมีการพลิกแพลงวิธีการเล่นให้ได้รับรางวัลสูงขึ้นไปอีก ทำให้ผู้เล่นสามารถแทงครั้งเดียว ถูกทั้งเช้าและค่ำพร้อมกัน รางวัลสำหรับผู้ที่แทงหวยถูกนั้นก็มีการกำหนดไว้ก่อนคือ ตัวหวยทั้งหมดมีอยู่ ๓๖ ตัว แต่ความเป็นจริงจะเป็นตัวยกเว้นเสีย ๒ ตัว คือ ตัว ง. และ ธ. ซึ่งถือเป็นตัวอาถรรพ์ เพราะเมื่อออกทีไรก็เกิดเรื่องตีรันฟันแทงกัน จึงวางกฎห้ามออกเสียเลย ฉะนั้นก็คงมีเหลือตัวหวยที่จะออกอยู่เป็นประจำเพียง ๓๔ ตัวเท่านั้น เวลาลูกค้าแทงถูกตัวใดตัวหนึ่งก็จะได้รางวัล ๓๐ ต่อ แสดงว่าขุนบาน หรือยี่โกฮงนั้น เป็นฝ่ายได้เปรียบลูกค้านักพนันอยู่ ๔ ต่อ กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ถ้าหากนักพนันลงทุนแทงหวยตัวใดตัวหนึ่งในช่วงหวยเช้า ๒๕ สตางค์ เมื่อหวยออก ปรากฏว่าถูกหวยก็จะได้รางวัลถึง ๓๐ ต่อ เป็นเงิน ๗.๕๐ บาท แต่โดยมากนักพนันที่ถูกหวยในภาคเช้าจะไม่ขอรับเงินในส่วนนี้แต่จะโอนเงินที่ถูกจากภาคเช้าไปแทงในหวยภาคค่ำเลย ซึ่งการแทงหวยในลักษณะนี้เขาเรียกกันว่า "หู้เต็มปี้ขา" ถ้าถูกก็จะได้เงินรางวัล ๒๑๕ บาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลเลยทีเดียว และนี่คือเหตุผลที่ทำให้คนทั้งหลายคิดที่อยากจะมั่งมีทางลัด จึงโดดไปเสี่ยงโชคกับการเล่นหวยกันอย่างบ้าคลั่ง

ผู้ที่เป็นขุนบาน หรือเจ้ามือหวย ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการออกหวยนั้น จะถูกผู้คนเฝ้าคอยติดตามสอบถามเพื่อที่จะดักความในใจให้รู้ว่าขุนบานขณะนั้น จิตใจจดจ่ออยู่กับอะไร ซึ่งขุนบานจะได้เลือกตัวหวยออกวันรุ่งขึ้น จึงมักมีการเซ้าซี้ให้ขุนบานบอกใบหวยให้จนได้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ขุนบานจึงหาทางออกโดยจ้างคนมาเขียนใบ้หวยไว้ที่หน้าโรงหวย ถ้าใครมาพูดจาให้ใบ้หวย ขุนบานก็จะไล่ให้ไปถามเอาเองที่หน้าโรงหวย ซึ่งแท้ที่จริงคนใบ้หวยกับตัวขุนบานนั้นไม่รู้เรื่องกันเลยแม้แต่น้อย เขาจ้างให้เป็นผู้เขียนใบ้ก็เขียนเอาเองตามใจชอบ เป็นการตัดภาระของขุนบานไปได้อย่างหนึ่ง ซึ่งในบางวันนั้นคนใบ้หวยนึกสนุกขึ้นมาก็เขียนเป็นบทกลอนใบ้หวยขึ้นมา เช่น "หมู่ไม้เขียว ฉอุ่มพุ่มพฤกษา สกุณณาโผผินบินว่อน ผู้เก็งถูกใจเราอย่านิ่งนอน เลือกอักษรให้เหมาะจะเคราะห์ดี" นักทายใจ ขุนบานเมื่อให้คนไปจดมาจากป้ายที่เขียนใบติดไว้ที่หน้าโรงหวยแล้วก็ไปแปลเอาว่า "สกุณณา" ก็ต้องเป็น "นก" จึงแทง น. เทียนสิน แล้วหู้เต็มปี้ขา ด้วย บ. แจหลี พอรุ่งเช้าหวยออก ปรากฎว่าไม่เป็นไปตามที่คาดเดาเอาไว้ กลับออก ร. กิมเง็ก คนแทงก็ร้องว่า ปัดโธ่! ร. กิมเง็ก ได้แก่ "แร้ง" นั่นเอง เพราะมันต้องบินว่อนเวลาหาซากสัตว์ที่ตาย ส่วนตัวค่ำแทนที่จะเป็น บ. ใบไม้ เพราะเขียวฉอุ่ม กลายเป็น ป. กังสือไป นักพนันก็กลับตัดพ้อกับตัวเองว่า เรามันคิดไม่ซึ้งพอนั่นเอง ตัว ป. ก็ได้แก่คำว่า ป่า นั่นเอง และในทีสุด ไม่ว่าหวยจะออกมาเรื่องราวที่นึกกัน ก็ย่อมเฉไฉไปได้หลายทาง แล้วแต่จะนึกเอาเองเช่นดังตัวอย่างที่ยกมา จึงเป็นเรื่องที่พูดกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น

แม้ว่าประชาชนคนไทยส่วนมากจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของหวย เพราะเหตุที่ว่าหวยเป็นสิ่งอำนวยลาภผลเงินทองมาให้อย่างทันอกทันใจ อีกทั้งการเล่นหวยก็ยังเป็นการสร้างรายได้จากอากรหวยเข้าสู่ท้องพระคลังของรัฐบาลอีกด้วย จนเป็นเหตุที่ไม่สามารถที่จะล้มเลิกการอนุญาตให้ออกหวยได้ เพราะจะทำให้ขาดรายได้ก้อนใหญ่ของแผ่นดินไปปีละนับล้านบาท ซึ่งในสมัยนั้นเงินจำนวนล้านย่อมเป็นมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่าปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้เลย อีกทั้งเป็นเงินได้เปล่าที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรสักนิดแล้วก็ได้มาด้วยความพอใจของเหล่านายอากรและประชาชน โดยรัฐบาลไม่ได้บังคับขูดรีดแต่ประการใด รัฐบาลในสมัยนั้นจึงตกอยู่ในภาวะจำยอม ทั้งที่ความเป็นจริงมิได้มีความต้องการให้เกิดมีการเล่นหวยเลย แต่ถ้าหากล้มเลิกไปก็จะทำให้สูญเสียรายได้ไป โดยไม่มีทางที่จะหาเงินรายได้จากส่วนอื่นมาทดแทนได้

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ใช้ความพยายาม ความอดทนทุกอย่างเพื่อที่จะกำจัดตัวอบายมุขร้ายที่ครอบงำประชาชนชาวไทยมาช้านาน โดยพระองค์ได้พระราชปรารภเกี่ยวกับเรื่องของหวย ก ข ว่า ทรงเจตนาจะใคร่กำจัดมาช้านานแล้ว ทรงเล่าไว้ว่า พระองค์ทรงตระหนักพระราชหฤทัยดีว่าหวยเป็นการพนันที่ยั่วยุเป็นอบายมุขที่ก่อพิษภัยแก่เศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง เพราะเงินเป็นสิ่งล่อใจจนราษฎรไม่ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากิน มีความลุ่มหลงมัวเมาในทางผิด โดยหวังความร่ำรวยจากการเสี่ยง แต่เป็นกลวิธีที่ประชาชนกำลังถูกหลอกลวงให้ตกเป็นเหยื่อ อันจะพาไปสู่ความพินาศฉิบหาย แม้ทางรัฐบาลได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินอากรผูกขาดประจำปีจำนวนมากจากขุนบานเจ้ามือหวย แต่เงินจำนวนมิใช่น้อยอีกส่วนหนึ่งก็ตกเป็นกำไรของขุนบานและพวกพ้องเท่ากับเอาเงินจากคนจำนวนมากมารวมเป็นก้อน เพื่อส่งเสริมความร่ำรวยให้แก่ขุนบานและพวกพ้อง ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มหนึ่ง การที่รัฐบาลจะเห็นแก่เงินอากร แล้วปล่อยให้ชุมนุมชนมั่วสุมอยู่กับการพนันเช่นนั้น ก็เหมือนพ่อบ้านที่นั่งดูดายให้ลูกหลานบ่าวไพร่ในบ้านคิดค้ากำไรกันเอง จนไม่มีเวลาประกอบกิจการงาน รังแต่จะเกิดทะเลาะวิวาท แตกสามัคคี และล่มจมไปตาม ๆ กันในที่สุด อนึ่งผู้ที่ริเริ่มนำวิธีเล่นหวยมาเผยแพร่ก็ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่กีฬาหรือเป็นการละเล่นดั้งเดิมของไทยเราที่นิยมหรือเป็นศิลป์ที่ควรรักษาไว้เป็นแบบฉบับ

และพระองค์ท่านก็สามารถที่จะยุบเลิกการเล่นหวยเป็นผลสำเร็จในเวลาต่อมา พระองค์ได้ครุ่นคิดมาตลอดเวลา และทรงรอคอยจังหวะที่จะยับยั้งการเล่นหวย ซึ่งเป็นแหล่งมั่วสุมอบายมุขอันนี้ให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย แม้ในความจริงจะเป็นการยากยิ่งนัก และถือเป็นการกระทบเกี่ยวกับภาวการณ์คลังของประเทศ

ในเวลาต่อมา ได้มีการตราพระราชบัญญัติการพนันขึ้น โดยล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าการพนันคือหวยและเบี้ย ซึ่งรัฐบาลได้จัดเลิก ด้วยวิธีจัดเลิกโรงบ่อนเบี้ยให้เหลือแต่น้อยโรงลงเป็นลำดับมานั้น เวลานี้เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทรงกำจัดการเล่นการพนัน คือหวยและเบี้ยนั้นให้สิ้นเชิงได้โดยพลัน ดังได้จำนงพระราชหฤทัยไว้ ด้วยอุบายที่จะสละพระราชทรัพย์คงพระคลัง พระราชทานแทนเงินที่จะขาดเพราะเลิกการพนันนั้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๕๙ ไปให้เลิกอากรหวยจีน ก ข ในมณฑลกรุงเทพฯเสีย และให้แก้พระราชบัญญัติการพนัน ร.ศ. ๑๑๑ โดยยกการพนันภาคที่ ๒ ไปรวมไว้ในภาคที่ ๑ โดยประเภทการพนันต้องห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเล่นการพนันออกหวยหรือเล่นการพนันโดยใช้ทำนองเดียวกันกับการออกหวยต่อไป พิจารณาเป็นสัตย์ให้ลงโทษผู้นั้นดังต่อไปนี้

"ให้ปรับเจ้ามือ หรือเจ้าสำนักคนหนึ่งคราวละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวงทุกคราวที่ออกหวย ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับให้จำคุก ๖ เดือน และให้ปรับผู้แทงคนหนึ่งคราวละ ๒,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวงทุกคราวที่แทง ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับ ให้จำคุก ๓ เดือน และให้ปรับผู้สมรู้ร่วมคิดเป็นใจ คนหนึ่งคราวละ ๑,๐๐๐ บาท เป็นพินัยหลวง ถ้าไม่มีเงินเสียค่าปรับให้จำคุก ๑ เดือน ประกาศ มา ณ วันที่ ๑๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๕๘ เป็นวันที่ ๑๙๕๓ ในรัชกาลปัจจุบัน"

และนี่คือเรื่องราวของการก่อกำเนิดหวย ที่มีขึ้นในประเทศไทย อย่างไรก็ตามถึงแม้ หวย ก ข จะสูญสิ้นไปจากประเทศไทย แต่การพนันก็ยังไม่สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทยโดยสิ้นเชิง ยังมีเรื่องของการออกสลากกินแบ่งเพื่อนักเสี่ยงโชค ซึ่งมีการดำเนินการเรื่อยมาจวบจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

เอกสารอ้างอิง
๑. วชิราวุธานุสรณ์ พ.ศ. ๒๕๐๕
๒. การปกครองไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.