Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ไพ่จีน




ที่มา: นิตยสาร "ดิฉัน"
โดย: ประยงค์ อนันทวงศ์
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
ข้อมูลโดย: คุณชัชวาล หุตะภิญโญ


สักวาเอี่ยวนางสำอางเอี่ยม
เป็นคู่เทียมเอี่ยวพญาตุนาหงัน
เกิดลูกน้อยเอี่ยวหนูอยู่ด้วยกัน
เกษมสันต์ผาสุกทุกวันไป
อีกวันนั้นฉันไปเที่ยวซื้อเอี่ยวเกือก
อนงค์เลือกเอี่ยวยาวขาวสมัย
ไม่สมหวังดังจิตที่คิดไว้
อยู่ไปไยบวชชีเดียวสิ้นเอี่ยวเอย

เป็นบทกลอนที่รำพึงรำพันถึงการเล่นไพ่ผ่องของคนไทยที่แสดงให้เห็นการเล่นไพ่ผ่องเป็นเกมการพนันอย่างหนึ่ง ที่คนไทยนิยมชมชื่นกันมาเป็นเวลาช้านาน บางคนหลงใหลกับการเล่นไพ่ชนิดนี้เสียจนไม่สนใจนำพาเรื่องงานบ้านช่องและลูกค้าแต่อย่างใด วันทั้งวันนั่งจมอยู่ในวงไพ่นั่นแหละ จนสามีภรรยาบางคู่มีปากมีเสียงและทะเลาะกันเป็นประจำ ถึงกับสมัยหนึ่งได้มีพ่อค้าหัวใสอัดแผ่นเสียงเชิงสามีสอนภรรยาเป็นเพลงว่า

น้องรักจ๋าหันหน้ามาทางนี้
ฟังคำพี่ดีกว่าอย่าเคืองข้อง
ใครนึกหวงท้วงทักหนักนักน้อง
หรือการบ้านการช่องไม่มองมา
ทั้งลูกเต้าเล้าอ่อนเอาบ่อนไพ่
เป็นเคหาอาศัยใฝ่เฝ้าหา
พอเที่ยงตึงถึงวงตรงเวลา
ลืมกินลืมนอนหน้าตาเศร้าโทรม
เงินก็เสียเพลียทั้งกายร้ายเหลือที่
ต้องเป็นหนี้ร้อนใจดังไฟโหม
ชอบสนุกทุกข์สนัดซัดเข้าโครม
ญาติมิตรโน้มน้อมนำสู่กรรมร้าย

กล่าวกันว่า แผ่นเสียงนี้แพร่หลายขายดีมากในสมัยนั้น นั่นย่อมแสดงว่าได้มีการเล่นพนันประเภทนี้กันอย่างกว้างขวางทั่วทุกหัวระแหงก็ว่าได้

ไพ่อันเป็นเกมการพนันที่ใครๆ พากันหลงใหลติดกันงอมแงมนั้น รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยพบเห็น จึงขอกล่าวให้ทราบโดยย่อๆ ดังนี้

ไพ่ไทย ทำเป็นตัวๆ รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 2 ซม ยาว 8 ซม มุมทั้งสี่ปาดมน ตัวไพ่ทำด้วยกระดาษอัดหนา ด้านหนึ่งของตัวไพ่เป็นกระดาษสีขาว และพิมพ์รูปภาพแสดงชนิดต่างๆ ของตัวไพ่ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นกระดาษสีใดสีหนึ่ง เช่นสีเหลือง สีเขียว สีแดง หรือสีอื่นๆ สุดแล้วแต่ความนิยม

ไพ่สำรับหนึ่งมี 120 ตัว แบ่งออกเป็น 9 พวก พวกหนึ่งๆ นอกจากพวกเอี่ยวแล้วมี 3 ชนิด แต่พวกเอี่ยวมี 6 ชนิด รวมไพ่สำรับหนึ่งมีลักษณะแตกต่างกันออกไปเป็น 30 ชนิด และชนิดหนึ่งๆ มี 4 ตัว และมีชื่อเรียกต่างๆ กันดังนี้

จำพวกเอี่ยว ได้แก่ เอี่ยวแดงพญาหรือเอี่ยวโต้ง เอี่ยวแดงนางหรือเอี่ยวนาง เอี่ยวหนู เอี่ยวยาวหรือเอี่ยวเข็ม เอี่ยวเกือกหรือเอี่ยวรอง และเอี่ยวชี

จำพวกสอง ได้แก่ สององคต สองตาหรือสองตาโต

จำพวกสาม ได้แก่ สามนกหรือสามนกเตี้ย สามตาหรือสามตาโต และสามคน

จำพวกสี่ ได้แก่ สี่หรือสี่นมยาน สี่มะเขือ และสี่คน

จำพวกห้า ได้แก่ ห้านก ห้าแตงโม และห้าคน

จำพวกหก ได้แก่ หกละเอียดหรือหกเซ่าะ หกตา และหกคน

จำพวกเจ็ด ได้แก่ เจ็ดนก เจ็ดพัด และเจ็ดคน

จำพวกแปด ได้แก่ แปดละเอียดหรือแปดเซ่าะ แปดตา และแปดคน

จำพวกเก้า ได้แก่ เก้าแดง เก้าจัน และ เก้าคน

ไพ่ทั้งหมดนี้ยังแยกประเภทตามสีได้สองสี คือ สีแดงและสีดำ

จำพวกสีแดงมี 3 ชนิด ได้แก่ เอี่ยวพญา เอี่ยวแดงนาง และเก้าแดง ส่วนไพ่จำพวกอื่นๆ อีก 27 ชนิด เป็นไพ่สีดำทั้งหมด

การที่นำลักษณะไพ่ไทยมากล่าวถึงเสียยืดยาวนี้ ก็เนื่องจากเชื่อกันว่าไพ่ไทยหรือไพ่ผ่องไทย มีเชื้อสายมาจากจีน เพราะเกมเล่นไพ่ของไทยเราแต่เดิมนั้นไม่มี เพิ่งจะมาปรากฎในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง เพราะเป็นยุคที่มีการการค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น

ต่างชาติได้นำเกมเล่นมาเผยแพร่ แต่โดยที่ไพ่จีนมีรูปลักษณะแปลกกว่าชาติอื่นและไทยเราได้เล่นและคุ้นเคยกับไพ่จีนเป็นอย่างดี จึงได้เลียนแบบ โดยเปลี่ยนแปลงไพ่ของจีนเพียงเล็กน้อย ตรงตัวหนังสือบอกแต้มตอนหัวไพ่ให้รู้ง่ายว่าแต้มอะไร แต่ก็คงเรียงแต้ม 1-10 ไว้เหมือนเดิม หลังจากนั้นไพ่ไทยเชื้อสายจีนก็ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยทั่วไป

ไพ่จีนนอกจากจะเป็นต้นกำเนิดของไพ่ไทยแล้ว ยังสันนิษฐานกันว่าเป็นต้นกำเนิดของไพ่ที่เกิดขึ้นในโลกด้วย โดยอ้างจากสารานุกรมของจีน ซึ่งรวบรวมไว้เมื่อปี ค.ศ. 1678 ว่าประเทศจีนได้คิดไพ่ขึ้นสมัยราชวงศ์ซ้อง ปี ค.ศ. 1120 โดยนางสนมกำนัลของพระเจ้าซุนโห ซึ่งตรงกับข้ออ้างของนาย ที เอฟ คาร์เตอร์ ผู้แต่งเรื่องการประดิษฐ์สิ่งพิมพ์ในประเทศจีน ที่ว่าไพ่เกิดขึ้นในประเทศจีนเหมือนกัน เพียงแค่คนละยุคคนละสมัย คือนายคนนี้แกว่าไพ่มีขึ้นในสมัยซ้องไทจง ค.ศ. 969

ต่อมา หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสชื่อ แอกส์แตรมโอเรียงต์ ได้ลงบทความเรื่องไพ่ว่า การเล่นไพ่เป็นเกมที่คนจีนคิดขึ้นก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในสมัยราชวงศ์ซ้อง ต่อมาได้มีผู้นำไพ่เข้าไปในประเทศยุโรป ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในศตวรรษที่ 13 จากนั้นก็แพร่หลายเข้าในยุโรปกลาง สเปน และอาหรับ

หนังสือฉบับดังกล่าวยังกล่าวต่อไปอีกว่าชาวจีนได้ประดิษฐ์การเล่นไพ่ต่อแต้มตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล แต่สมัยนั้นยังไม่มีกระดาษ ฉะนั้นวัสดุที่นำมาทำไพ่คงได้แก่ของแข็ง เช่นงา เขา และกระดูกสัตว์ เป็นต้น ต่อเมื่อนิยมกันมากขึ้น จึงทำจากไม้เนื้อแข็งบางชนิด แล้วปรับปรุงการประดิษฐ์ขยายเกมเล่นออกไป เช่นไพ่นกกระจอก และอื่นๆ

เมื่อจีนคิดทำกระดาษออกมาในรัชสมัยของพระจักรพรรดิโฮ เมื่อ ค.ศ. 106 และได้พัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ไพ่จึงถูกประดิษฐ์ขึ้นจากกระดาษ

ข้อสันนิษฐานว่าไพ่ไทยมาจากจีนอีกประการหนึ่งได้แก่สำเนียงภาษา คือคำว่าไพ่เข้าใจว่าแต่เดิมเราคงเรียกตามภาษาแต้จิ๋วว่า จั๊วไป๊ ต่อมาเรียกให้สั้นเข้าตามความคล่องปากของคนไทย จึงกลายเป็นคำว่า ไพ่ ส่วนคำว่า จั๊ว ก็เพี้ยนมาเป็นคำว่า จั่ว ซึ่งมีความหมายว่าลากไพ่ หรือเปิดไพ่

สำหรับคำว่า ไพ่ผ่อง ก็ว่ามาจากสำเนียงแต้จิ๋วว่า พ้องไป๊ ไพ่แปดเก้า สำเนียงแต้จิ๋วว่า เก๊าไป๊

ไพ่สี่สี ภาษาแต้จิ๋วว่า สี่เซ็กไป๊ ซึ่งไม่ได้เอาคำจีนมาทั้งหมด เมื่อไพ่มีถึงสี่สีจึงเรียกไพ่สี่สี ส่วนไพ่นกกระจอก สำเนียงแต้จิ๋วว่า มั้วเจียะ และสำเนียงฮกเกี้ยนว่า มาจง ไทยเราไม่ได้เอาคำจีนมาใช้ เพราะคำจีนทั้งสองแปลว่านกกระจอกอยู่แล้ว และเอามาเล่นเหมือนไพ่ จึงเรียกว่าไพ่นกกระจอก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ พอสรุปได้ว่า ไพ่ไทยเลียนแบบมาจากไพ่จีนนั่นเอง ถึงกระนั้นเราก็ไม่น่าอับอายขายหน้าแต่อย่างไร เพราะถึงจะเลียนแบบของเขามา แต่ก็ได้มาจากแม่แบบที่เป็นต้นกำเนิดของไพ่ทั้งโลกนั่นเทียว






All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.