Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ตำนานปากหวานใจดี





ที่มา: "ลิตเทิล อินเดีย กำยาน มาซาลา และภารตวิถีในตรอกพาหุรัด"
จากหนังสือ: สารคดี ปีที่ 16 ฉบับที่ 187 เดือนกันยายน 2543
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณ Fom



ใครเคยอ่านนิยายชุด สามเกลอ ของ ป. อินทรปาลิต จะต้องเคยผ่านตากับมุขตลกอันหนึ่ง ของนิกร การุณวงศ์ เกี่ยวกับนายห้าง ปากหวานใจดี เจ้าของร้านผ้า ย่านพาหุรัด ใกล้กับวังบูรพา ในยุคเมื่อร่วม ๔๐ ปีก่อน

ปัจจุบันนี้ยังคงมีร้านปากหวาน ใจดี อยู่ที่เชิงสะพานลอยบนถนนจักรเพชร และมีร้านที่ชื่อประเภท ใจดี ใจกว้าง ใจเย็น ปากหวาน อีกสี่ห้าร้าน ในตรอกสำเพ็งและริมถนนพาหุรัด

เพียงแค่เห็นชื่อร้านก็รู้ได้ทันทีว่า เป็นร้านของนายห้างชาวอินเดีย และแน่นอนต้องเป็นร้านขายผ้า

นายห้างปากัต ซิงห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ในแวดวงค้าผ้าของชาวสิกข์ เล่าถึงที่มาของชื่อร้านน่ารักนี้ว่า ยุคแรกๆ เมื่อชาวอินเดียเข้ามาปักหลักค้าผ้าในกรุงเทพฯ คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับรูปร่างหน้าตา รวมไปจนถึงอุปนิสัยใจคอของพ่อค้าชาวสิกข์เหล่านี้ ประกอบกับลักษณะภายนอกที่โพกผ้า ไว้หนวดเครายาว แม้จะดูแลอย่างดีก็ตาม ก็ดูเหมือนเป็นคนดุร้ายน่ากลัว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร้านของชาวสิกข์ มักมีผ้าสวยๆ แปลกๆ ให้เลือกมากมาย ลูกค้าคนไทยอดใจไม่ไหว ต้องลองเข้าไปเลือกซื้อหาดู ก็ได้พบว่า พ่อค้าเหล่านี้ นอกจากไม่ดุเหมือนหน้าตาแล้ว ยังใจดี พูดจาสุภาพ ถึงขนาดปากหวานเลยทีเดียว นอกจากนี้นายห้างขาวสิกข์ จะไม่ทะเลาะวิวาทกัน ไม่ด่าทอ ไม่แตะต้องของมึนเมาเนื่องจากเป็นระเบียบข้อปฏิบัติทางศาสนาที่นับถือกันอย่างเคร่งครัด ยิ่งทำให้พูดถึงกันปากต่อปากถึงนายห้างแขกเหล่านี้

"คนไทยก็บอก เอ๊ะ นายห้างคนนี้ใจดีนะ พูดดี ปากหวาน ไม่เห็นน่ากลัวเลย บางคนต่อมากๆ นายห้างก็ไม่โกรธ ก็เรียกว่านายห้างใจเย็น พวกเราได้ยินคำชมว่า นายห้างใจดี นายห้างปากหวาน นายห้างใจเย็น ก็เลยเอาคำชมนั้นมาตั้งเป็นชื่อร้าน ทำนองบอกถึงลักษณะ ของเจ้าของ" นายห้างคนเดิมเล่า

เมื่อตั้งชื่อร้านแบบนี้ ก็มีลูกค้าประจำ ค้าขายดีขึ้น รายอื่นๆ ก็เอาไปใช้กันบ้าง จนกลายเป็นสัญลักษณ์ แฟชั่น นายห้าง ปากหวาน ใจดี ใจเย็น ใจกว้าง สืบทอดมาถึงยุคหนึ่ง เท่านั้น ปัจจุบันไม่มีใครนิยมใช้อีกแล้ว

"ที่ตอนนี้เขาเปลี่ยนไปใช้ชื่ออื่น ไม่ใช้ว่าเราเลิกปากหวาน ใจดี แต่ว่า นายห้างรุ่นปากหวานใจดีตายไปเกือบหมดแล้ว บางคนก็เกษียณตัวเองไป ให้ลูกหลานมาบริหารกิจการต่อ รุ่นลูกของเราเห้นว่าชื่อแบบเก่าเชย ก็เลยเปลี่ยนชื่อ บางคนก็ขยายกิจการไปทำธุรกิจประเภทอื่น ก็ต้องใช้ชื่อที่เป็นสากลหรือไม่ก็ชื่อแบบร้านแบบไทยไปเลย เพราะเขาเกิดเมืองไทย เป็นคนไทย แต่ชาวสิกข์ก็ยังใจดี ปากหวานอยู่เสมอ" นายห้างปากัต ซิงห์ เล่าพลางหัวเราะอย่างอารมณ์ดี...ตามประสาคนปากหวาน





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.