Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 9





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: พนม สุวรรณบุณย์
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณ Supaporn Kacharat

จาก"สามเกลอ" ถึง "สังเวียนชีวิต"

เมื่อครั้งผมยังเป็นเด็กนักเรียน เคยอ่านเรื่องของพี่ ป.อินทรปาลิต หลายต่อหลายเรื่อง มีทั้งเรื่องรักโศก, เรื่องตลกและสนุกตื่นเต้น ซึ่งอยู่ในรูปเล่มซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า "หนังสืออ่านเล่น" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ สะพานดำ

เรื่องรักระคนโศกละก็ ผมอ่านด้วยความรู้สึกสะอื้นตื้นตันในอก บางคราวก็ถึงกับน้ำตาคลอ แสนสงสาร และเศร้าซึมไปกับเรื่องราวและบทบาทของตัวละครในเรื่อง ซึ่งพี่ ป.แต่งอย่างอัศจรรย์ ก็ผมเป็นนักศิลปะ มีอารมณ์อ่านไหวออกจะตายไป(แต่ไม่มีวันปัญญาอ่อนหรอกจะบอกให้) ดังนั้น ผมจึงรู้สึกซาบซึ้งและประทับใจในบทประพันธ์ของพี่ ป. ดังกล่าวแล้ว

ถึงเรื่องตลกชุดสามเกลอ (พล,นิกร,กิมหงวน) ก็เถอะ, ผมอ่านแล้วหัวเราะอยู่ในลำคอบ้าง บางทีก็ปล่อยออกมา กั้ก…กั๊ก..อย่างลืมตัว อ่านพลางหัวร่อพลาง น้ำหูน้ำตาไหล(ความจริงน้ำตาไหลอย่างเดียว) แทบจะเป็นบ้าเสียให้ได้ พับผ่า, แทบทุกครั้งผมมักจะแอบอ่านอยู่คนเดียวในที่เงียบๆ และปลอดคน เพื่อว่าจะได้มีโอกาสปล่อยอารมณ์ให้สนุก อ่านไปหัวเราะไปจนงอหาย(อะไรงออะไรหายช่างผมเถอะครับ)

ตอนเป็นนักเรียน คราวหนึ่งผมอ่านเรื่องสามเกลอตลกโปกฮานี่แหละ ผมอ่านแล้วหัวเราะจนน้ำลายไหล เอ๊ยไม่ใช่ครับ. มันกลับเป็นน้ำตาไหลซึมด้วยความเสียใจไปทีเดียว แปลกไหมล่ะครับ หัวเราะแล้วกลับกลายเป็นร้องไห้ไปได้

เรื่องมันมีอยู่ว่า ผมอุตริเอาหนังสือชุดสามเกลอเข้าไปแอบอ่านในเวลาเรียนหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ซึ่งวิชานี้ทั้งผมและเพื่อนๆ บางคนแสนจะเบื่อเสียเหลือเกิน ครูสอนทีไรรู้สึกง่วงเหงาหาวนอนอยากจะหลับเสียให้ได้ วิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรมที่ครูท่านพร่ำบรรยายให้ฟัง ก็เป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์น่าจะใส่ใจและจดจำ แต่ทำไมจังกลับเป็นวิชาที่ทำให้ขบขันมีเสียงหัวเราะหึๆ ห่ะๆ เบาๆ ที่โต๊ะแถวหน้าตรงมุม ซึ่งที่นั่นก็คือโต๊ะของผม และผมเองแหละเป็นคนหัวเราะอยู่คนเดียว

ครูท่านจึงหยุดบรรยายวิชาทันที ก้มหน้าลอดแว่นพุ่งมองตรงมายังผม แล้วก็รี่มายืนต่อหน้าผมซึ่งซีด แต่หน้าครูท่านบึ้งตึง !

"หัวเราะอะไร ? ไหนอะไรอยู่ในมือ ?"

ผมตกใจ, ไอ้ที่กำลังเพลิดเพลินขำขันอยู่คนเดียวเมื่อสักครู่บินปร๋อหายวับไป เหลือแต่ใจหายวูบกลัวจนตัวสั่นไปหมด ค่อยๆ ดึงมือทั้งสองที่ถือหนังสืออ่านเล่นชุดสามเกลอซุกไว้หน้าตัก ประคองส่งให้ครูท่านด้วยหัวใจสั่นระริก

"ยืนขึ้น" ครูกระแทกเสียงดัง พลางกระชากหนังสือเล่มนั้นไป

"อะไร เธอนี่ไม่เอาใจใส่ในการเรียน เอาหนังสืออ่านเล่นมาอ่าน เลวมาก ยกมือขึ้น ! แบมือ !"

ผมยืนตัวสั่น หน้าชาอายเพื่อนฝูงในชั้นเป็นที่สุด ยกมือขวาขึ้นแล้วแบออกเพื่อจะรับหนังสือเล่มนั้นกลับคืน แต่ไม่ใช่หรอกครับ สิ่งที่ครูท่านคืนมายังมืออันแบบบางของผมก็คือไม้บรรทัดอันหนาบึกพร้อมกับเสียงดังเพี้ยะ ! ดังสนั่น

แล้วครูท่านก็ริบเอาหนังสือนั้นไปใส่ในลิ้นชักของท่าน ผมร้องไห้ไม่ใช้เพราะเจ็บปวดที่หวดด้วยไม้บรรทัดนั่นหรอก ทว่า ผมเสียใจ และเสียดายหนังสือชุดสามเกลอนั่นต่างหาก เสียดายเพราะว่าผมขอยืมเพื่อนข้างบ้านมา แล้วจะต้องรีบคืนเขาตอนเย็น ถ้าครูริบไว้เลยไม่คืนให้ผม ผมจะต้องควักกระเป๋าใช้สตางค์เพื่อนเจ้าของหนังสือ ไอ้ผมก็ไม่ค่อยจะมีสตางค์เสียด้วย ได้จากผู้ปกครองไปกินขนมที่โรงเรียนไม่ค่อยจะอิ่มอยู่แล้ว จะหาเงินที่ไหนมาชดใช้ค่าหนังสือให้เพื่อนเขาล่ะ เศร้า

นี่แหละครับ เขาเรียกว่าหัวเราะแล้วร้องไห้ คือหัวเราะตอนอ่านขณะที่ครูสอน และร้องไห้เมื่อครูจับได้และฟาดด้วยไม้บรรทัดเสียจนมือแดงแจ๋

แต่ครูท่านก็ใจดีมีเมตตาอยู่หรอก พอเลิกเรียนแล้วท่านก็คืนหนังสือแก่ผม

"คราวหน้าอย่าเอามาอ่านในห้องเรียนอีกนะ หนังสืออ่านเล่นอย่างนี้ควรอ่านเวลาว่างที่บ้านหรือที่อื่นไม่ใช่ในห้องเรียน เวลาเรียน ควรเอาใจใส่เล่าเรียนแต่อย่างเดียว จำไว้" ครูพูดพลางยื่นหนังสือชุดสามเกลอให้ผม พูดเสียงค่อยๆ ผมพอได้ยินว่า "เออ ไอ้สามเกลอนี่อ่านแล้วขำดี"

ผมหัวเราะแหะๆ และครูท่านก็หัวเราะหึๆ อยู่ในลำคอ พอดีกันทั้งคู่ครูกับนักเรียน

นี่เป็นตอนหนึ่งในอดีต เป็นช่วงเวลาอันหนึ่งซึ่งผมกับพี่ป. มีส่วนสัมพันธ์เชื่อมโยงกันในฐานที่พี่ ป. แต่งเรื่องให้ประชาชน(ซึ่งรวมถึงผมด้วย) ได้อ่านกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินกันนมนานทีเดียว ผมไม่ได้คิดฝันเลยว่าจะได้มาร่วมงานกับพี่ ป. เข้าจนได้ นั่นคือ ผมได้มีโอกาสเขียนภาพปกชุดสามเกลอ (พล , นิกร , กิมหงวน) ซึ่งพี่ ป. แต่งหลายต่อหลายเล่ม จำได้ว่าเมื่อตอนเป็นนักเรียนนั้น "เสน่ห์" จิตรกรรุ่นพี่ผู้วายชนม์ไปนานแล้วเป็นผู้เขียนหน้าปกมาก่อน

ครั้นมาถึงตอนผมเขียนปกชุดนี้ต่อ โดยมีคุณทรวง เตชะธาดา แห่งสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาเป็นผู้กำหนดให้ผมเป็นคนเขียน ผมจึงได้พยายามเขียนให้อย่างสุดฝีมือ เพราะศรัทธาปากกาของพี่ ป. มาช้านาน คราวนี้สมใจที่ได้มีโอกาสร่วมงานกัน ซึ่งไม่ได้คิดฝันมาก่อนเลย และเหนืออื่นใด ผมปลื้มปิติที่ได้รู้จักและไหว้พี่ ป. ที่นับถือตั้งแต่นั้นมา

ชุดสามเกลอของพี่ ป. ยังคงดำรงอยู่ในตลาดหนังสือหลายตอน ในระยะหลังผมมีงานล้นมือ คุณ "อาภรณ์" ซึ่งเป็นน้องแท้ๆ ของพี่ ป. ซึ่งมีฝีมือในการวาดรูปดีคนหนึ่ง เป็นผู้รับช่วงเขียนต่อจากผมอีกที

ผมไม่ได้เขียนปกสามเกลอมาเป็นเวลาหลายปี, จนกระทั่งได้มาเขียนภาพประกอบเรื่องของ พี่ ป. อีกในคอลัมน์ "สังเวียนชีวิต" ซึ่งลงประจำใน "เดลิเมล์ ฉบับพิเศษวันอาทิตย์" นี่แหละครับ ที่ผมกับพี่ ป. ได้ร่วมงานกันอีกครั้ง หรือจะเรียกว่า "จากสามเกลอถึงสังเวียนชีวิต" ก็ไม่ผิด แหละผมก็ได้เขียนภาพประกอบของ พี่ ป. เรื่องมาทุกเรื่อง จวบจน….

๒๖ กันยายน ๒๕๑๑

ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของผมพอดี (คือมีอายุเต็ม ๔๗ ปี แก่ทั้งดีกรีและทั้งวัย) นับถอยหลังไปเพียงวันเดียว ก็เป็นวันที่ พี่ ป. เหลือแต่ชื่อเสียง ผมจึงได้แต่เพียงทำบุญใส่บาตร และงดการเลี้ยงเพื่อนฝูงไว้อาลัยแด่พี่ ป. ที่ล่วงลับไปแล้ว

๑๓.๔๕ น. ของวันนี้เอง ภายในห้องทำงาน "เดลิเมล์วันจันทร์" ยุคเสริมสร้าง ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนภาพประกอบเรื่องสุดท้ายของ พี่ ป. "ลาก่อน อัพภันพนา" ในคอลัมน์ "สังเวียนชีวิต" อีกราว ๕ นาทีก็จะถึงเที่ยงวัน "สุวัฒน์ วรดิลก" ก็ลุกจากโต๊ะพาร่างอันสูงใหญ่และสง่างอมเอ๊ย สง่างาม เดินตรงมายังโต๊ะผมซึ่งตั้งอยู่ใกล้ประตูห้อง

"คุณนม ไปกินข้าวกันเถอะ" เขาเอ่ยขึ้น "คุณประกาศด้วย" เขาหันไปชวน ประกาศ วัชราภรณ์ ซึ่งนั่งทำงานง่วนอยู่ข้างหลังเขา

"ขออีก ๒ นาทีได้ไหม กำลังโม่รูปประกอบของพี่ ป. จวนจะเสร็จแล้ว" ผมบอกเขา แต่แล้วก็ต้องตัดสินใจ "เอา กินก็กินชักหิวเหล้า เอ๊ยข้าวเดี๋ยวมาต่ออีกนิดเดียวก็เสร็จ" ครั้นแล้วผมก็เดินตามสุวัฒน์ไปพร้อมกับคุณประกาศ

ที่ "แปซิฟิคโฮเต็ล" ซึ่งข้างล่างเป็นร้านขายอาหารของญี่ปุ่นเรายึดเอาโต๊ะกลมใหญ่กลางห้อง ความจริงกลางวันวันนั้นสุวัฒน์เขานัดพรรคพวกมาร่วมกินกันหลายคน มีเขาหนึ่งละ แล้วก็ "ระพีพร" คุณประกาศ "เรือหงส์" สนิท เอกชัย "เรือใบ" D.D.T 100 %

ทวีป วรดิลก "นายหมึก" "ทวีปวร" "กฤษณ์ วรางกูร" เชลง กัทลีรดะพันธุ์ "เรือไอ" "เสถียร เกตุสัมพันธ์" "ตุ๊ดตู่" และผม โฮ้ย เยอะแยะเต็มโต๊ะไปหมด ผมแอบกระซิบบ๋อยที่เสริฟอาหารแบบคุยเขื่องคล้ายกับว่าผมเป็นเจ้ามือมื้อนี้ (แต่ความจริงสุวัฒน์เขาเป็นน่ะครับ) ว่า วันนี้เราประชุมกัน หลายชื่อ สักหน่อยเรื่องสำคัญเสียด้วย แต่ลื้ออย่ารู้ดีกว่า บ๋อยทำตาโต งงๆ มองดูโต๊ะกลมที่เรานั่งห้อมล้อมอยู่ เห็นทำมือทำไม้นับไปนับมาแล้วบอกผมว่า "เห็นมี ๖-๗ คน เท่านั้นนี่คุณ" แล้วก็เดินอมยิ้มไปหลังร้าน

กลางวันนั้นเอง เราต่างกินเหล้าและอาหารไปพลาง ปรึกษาหารือเรื่องหาทางช่วยเหลืองานศพพี่ ป. ผู้ตายอย่างนักประพันธ์ผู้ยากจนค่นแค้น ซึ่ง "สุวัฒน์" และ "คุณสนิท เอกชัย" เป็นตัวตั้งตัวตี หรือหัวเรือใหญ่นั่นเอง

เป็นอันว่าเย็นวันเสาร์ที่ ๒๘ นัดพวกนักประพันธ์ (ชมรมนักเขียน ๕ พ.ค.) มาเลี้ยงสังสรรค์และหารือกันอีกครั้งหนึ่งที่บาร์ฮาวายริมคลองประปาสามเสน

เสร็จจากงานที่เดลินิวส์ เย็นวันนั้นแล้ว ผมบึ่งมาที่วัดมกุฎกษัตริยาราม เกือบ ๕ โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลากำหนดรดน้ำศพ พี่ ป. พอดี นับเป็นเวลาที่ฟ้ามืดครึ้มด้วยเมฆฝน และบรรยากาศเศร้าซึมอะไรเช่นนั้น ฟ้ากำลังจะหลั่งน้ำตาให้แด่ พี่ ป. นักประพันธ์คนยากซึ่งจากโลกนี้ไปแล้ว

ที่หน้าประตูวัด ศรีภรรยาคู่ชีวิตคนสวยของชูชก เอ๊ย "ชูชัย พระขรรค์ชัย" (ชูชัยครับ ขออภัย อย่าต่อยผมนะ) อดีตนักมวยเอกรูปหล่อได้เชิญผมเข้าไปในวัด

"ผมเสียใจด้วยครับ เคารพและคิดถึง พี่ป. เหลือเกิน" ผมกล่าวกับคุณ "ปรานี" ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของพี่ป. ในศาลาที่ตั้งศพ แล้วก็เลยเข้าไปไหว้ และรดน้ำศพด้วยความอาลัยและตื้นตันใจเป็นที่สุด

คุณ สมาน ดิลกวิลาศ นักมวยเอกของสยามในอดีตกระหืดกระหอบมารดน้ำศพเป็นคนต่อจากผมไป

"โธ่…ปรีชาเอ๋ย…" เขาคร่ำครวญเบาๆกับร่างที่นอนสงบนิ่งพลางยกมือขึ้นไหว้คารวะศพเพื่อนรักของเขา

ฟ้ามืดมัวลงทุกที, แขกเหรื่อและญาติมิตรที่ไปวันนั้นมากพอสมควร ในจำนวนนั้นมีนักประพันธ์รุ่นเดียวกับพี่ ป. และรุ่นน้องไปกันมาก เท่าที่จำได้ก็มี สันต์ เทวรักษ์ , สุภา ศิริมานนท์ , สุวัฒน์ วรดิลก, สนิท เอกชัย , ศักดิ์เกษม หุตาคม , ประยูร จรรยาวงศ์ , แถมสิน รัตนพันธ์ , สุธรรม์ นาวานุเคราะห์ , ทวี เกตะวันดี , ทรวงและสุรพล เตชะธาดา ฯลฯ , ชูชัย พระขรรค์ชัย ซึ่งเป็นน้องเขยของภรรยาพี่ ป. และที่บ้านของเขา ณ ซอยโชคชัยร่วมมิตร ๑๒๑ หมู่ ๓ สามเสนนอก บางกะปิ เป็นที่ซึ่งพี่ ป. นอนเจ็บและมีโอกาสหายใจเป็นครั้งสุดท้าย

"ผมจากอัพภันพนาในเวลา ๑๐ น. เศษ เพื่อนบ้านทุกคนได้ออกมาส่งผมและแสดงความอาลัยรักผม เด็กหนุ่มสาวบางคนถึงกับร้องไห้ ผมนึกถึงตัวของผมเองก็อดภาคภูมิใจไม่ได้ ถึงผมยากจนผมก็ทำตัวผมถูกแล้วในคำกล่าวว่า

"เมื่ออยู่ก็ทำให้เขาพอใจ เมื่อจากไปก็ให้เขาคิดถึง"

นี่คือทิ้งท้ายจากบทประพันธ์ชิ้นสุดท้ายของพี่ ป. ซึ่งเขียนให้เดลินิวส์แห่งเดียว และพร้อมกับจดหมายฉบับหนึ่งถึงคุณสนิท เอกชัย โดยเฉพาะ พี่ ป.ล่วงลับไปแล้ว ขอให้วิญญาณจงสงบสุขในสรวงสวรรค์นั้นเถิด หากชาติหน้ามีจริง ขอให้ พี่ป. เกิดมาเพื่อเขียนหนังสือให้ประชาชนคนอ่านได้รับความบันเทิงได้หัวเราะ และร้องไห้ต่อไป.


พนม สุวรรณบุณย์





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.