Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

ระลึกถึง ป. อินทรปาลิต ตอนที่ 6





ที่มา: หนังสือ "หนังสือที่ระลึกในการประชุมเพลิงศพ ป. อินทรปาลิต"
ข้อเขียนโดย: ยศ วัชรเสถียร
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: คุณเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ(00778)

สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ป. อินทรปาลิต

แน่นอน เขาจะได้ตายในฐานะนายทหารไทย คนหนึ่งแห่งยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อย ถึงจอมพลก็ได้ถ้าหากว่า เขามีความพิสมัยต่อการเป็นนายทหารและอาชีพทางทหาร ตามเจตจำนงของผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของไทยสมัยราชาธิปไตย และได้นำเขาเข้าศึกษาเล่าเรียนให้เป็นนายทหารเจริญรอยตามที่โรงเรียน นายร้อย จ.ป.ร. ที่ท่านเป็นอาจารย์สอนร่วมอยู่ด้วยผู้หนึ่ง แต่จะเป็นใครหรืออะไรก็ตามที่ให้เขาเกิดมาไม่ใช่เพื่อการเป็นนายทหารและมีอาชีพทางทหาร หากแต่ให้เขาเกิดมาเพื่อเป็น นักประพันธ์ แล้วก็ตายในฐานะของคนยากจนเข็ญใจ ตามคำประณามที่ว่า นักประพันธ์ไส้แห้ง ฉะนั้นเขาจึงไม่ขะมักเขม้นในการเรียนเพื่อเป็นนายทหาร ตามเจตจำนงของบิดาอย่างควรแก่ความเฉลียวฉลาด ที่สมองของเขามีอยู่ประจำตัวมาแต่กำเนิด ในที่สุดเมื่อจวนจะถึงชั้น จบหลักสูตร ของโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. เขาสอบตกสองปีซ้อน ต้องถูกคัดชื่อออกตามกฎโดยไม่มีการยกเว้น แม้ว่าตอนเข้าเรียนในสมัยนั้นลูกนายทหารจะมีสิทธิพิเศษเข้าได้ โดยไม่ต้องสอบคัดเลือก

เมื่อหมดหวังได้เป็นนายทหาร และมีอาชีพทางราชการทหารแล้ว เขาก็ยังมีโอกาสเป็นอันมากสำหรับอาชีพทางราชการพลเรือน จากวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาจากโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. ชั้นสูงสุด แต่อาชีพทางราชการพลเรือน ก็ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของเขาอีก เหตุผลในข้อนี้เขาได้บอกข้าพเจ้า เมื่อเราสนิทสนมกันในระยะที่เขาใกล้จะตาย เขาว่า อาชีพข้าราชการนั้นใช้แต่ " ความรู้ " ที่ได้เล่าเรียนมาจากสถานศึกษา หรือโรงเรียนเท่านั้น ไม่ได้ใช้ " สติปัญญา " หรือ " ความคิดความอ่านจากสมอง " ที่มีมาแต่กำเนิดเลย แล้วก็ยังจะต้องคอย " ขอรับกระผม " ต่อความคิดความเห็นของผู้บังคับบัญชาตะพึดตะพือไป ไม่ว่าความคิดเห็นของผู้บังคับบัญชาจะเข้าท่า หรือไม่เข้าท่าก็ตามที จึงจะได้ดี

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมุ่งมั่นที่จะยึดถือเอางานที่ให้โอกาสแก่เขา ในการได้ใช้สติปัญญาหรือ " ความคิดความอ่านจากสมอง " ที่เขามีมาแต่กำเนิดได้เต็มที่และโดยอิสระเป็นทางหาเลี้ยงชีพ นั่นคือ การเป็นนักประพันธ์ และการประพันธ์นั้น เขาได้เลือกทางประพันธ์ประเภทนิยายแบบสมัยใหม่ ซึ่งหนักไปในทางให้ความบันเทิงแก่ผู้อ่าน ในเมื่อทุกคนที่เกิดมาจะต้องทำงานไม่อะไรก็อะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อเป็นทางให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ และเขาก็ประสบความสำเร็จในทางประพันธ์อย่างงดงามยิ่ง

ป. อินทรปาลิต เข้าสู่วงการประพันธ์ของไทยอย่างจริงจัง ในระหว่าง พ.ศ. 2575 - 6 หลังจากข้าพเจ้าปีหรือสองปี ซึ่งก็สมควร ในเมื่อเขาเกิดมาสู่โลกอันแสนจะวุ่นวายนี้ ภายหลังข้าพเจ้าสองปีหรือสามปีเช่นกัน ( แต่เมื่อเขาชิงตายไปก่อนข้าพเจ้าจึงยังความสลดใจให้แก่ข้าพเจ้าอย่างยิ่ง ) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เขาถูกคัดออกจากโรงเรียนนายร้อย จ.ป.ร. ในตอนนั้น การประพันธ์นิยายสมัยใหม่ ซึ่งเรียกกันในปัจจุบันว่า นิยาย ตอนนั้นยังเรียกว่าเรื่องอ่านเล่น หรือ นิยายประโลมโลก เข้าสู่ยุคเฟื่องฟู โดยมีผู้ตั้งสำนักพิมพ์จำหน่ายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน แต่เรียกว่า คณะ ยังไม่เรียก สำนักพิมพ์มีอยู่ด้วยกันสี่คณะ คือ คณะเพลินจิตต์ คณะนายอุเทน คณะวัฒนานุกูล และคณะ ล.เภตรารัตน์(คณะหลังนี้มีเรื่องพิมพ์ออกน้อย) ส่วนสามคณะแรกนั้นมีเรื่องใหม่ออกจำหน่ายทุกวัน แต่ละเรื่องมีขนาดยาว 10 ถึง 15 ยก ปกอ่อน พิมพ์ภาพสอดสีงดงาม ราคาขายเล่มละ 10 และ 15 สตางค์ ( หนึ่งสตางค์สมัยนั้น ก็ดูจะเท่า หนึ่งบาท สมัยนี้ ) นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ รายวัน ทุกฉบับ ก็มีเรื่องยาวเหยียดลงเป็นประจำ คู่กันไปกับเกร็ดพงศาวดารจีน และไทยหนังสือนิตยสารรายสัปดาห์ และรายเดือน ก็ลงเรื่องสั้น แต่ไม่เอื้อเฟื้อแก่นักประพันธ์อิสระ นักประพันธ์ จึงต้องประจำทำงานกินเงินเดือนของหนังสือพิมพ์นั้น ๆ อย่างข้าพเจ้าก็เริ่มต้นที่ ศรีกรุง แล้วก็ ประชาชาติ ถึงคณะที่พิมพ์เป็นเล่มราคาเยานั้น ก็ต้องเป็น นักประพันธ์ ชาวคณะเหมือนกัน ทั้งนี้ก็เพราะเป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง เรื่องเป็นที่นิยมของนักอ่านแล้วนั่นเอง ผู้ที่เป็นหน้าใหม่นามใหม่ แม้เรื่องจะดี โอกาสที่จะได้รับตีพิมพ์ ออกเผยแพร่ต่อนักอ่านแทบจะไม่มีเอาเลย หากไม่มีนักประพันธ์รับรองอย่างแข็งแรงกับเจ้าของคณะผู้เป็นนายทุน ในการพิมพ์ออกจำหน่าย เพราะเมื่อพิมพ์แล้วขายไม่ได้ทำให้ขาดทุน เป็นความกลัวที่ขึ้นสมองคนพวกนี้ การลองเพื่อเปิดโอกาสแก่พวกหน้าใหม่โดยไม่ ได้รับการสนับสนุนรับรองจากพวกหน้าเก่า จึงไม่มีเอาเลย แต่ ป. อินทรปาลิต หรือ ปรีชา อินทรปาลิต มีโชคดีในทางการประพันธ์อย่างยิ่ง เพราะเรื่องแรกที่เขาส่งไปให้คณะเพลินจิตต์ คือเรื่อง นักเรียนนายร้อย จากประสพการณ์ที่เขาได้รับมาสด ๆ ได้รับการ ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ต่อนักอ่านสมัยนั้น ซึ่งส่วนมากเป็นคนวัยหนุ่มสาว โดยความบังเอิญ ซึ่งมนัส จรรยงค์ เป็นผู้บันดาลให้เกิด ( เรื่อง ละเอียดของกรณีนี้ ข้าพเจ้าได้เล่าไว้แล้ว ในหนังสือของข้าพเจ้าเรื่อง ความเป็นมาของการประพันธ์และนักประพันธ์ของไทย ซึ่งแพร่พิทยาพิมพ์ จำหน่าย ข้าพเจ้าจึงไม่นำมาเล่าอีกในที่นี้ )

นักเรียนนายร้อย ของเขาขายดีอย่างที่เจ้าของคณะเพลินจิตต์คาดไม่ถึง ยังผลให้เจ้าของคณะนั้น อ้าแขนเต็มเหยียดต้องรับเขาเป็นชาวคณะ บอกเขาว่าเขียนมาเถิด ทีละร้อยเรื่องก็รับซื้อหมด แล้วเขาก็มีความเป็นอัจฉริยะ ในทางประพันธ์ เรื่องนิยายอย่างน่าอัศจรรย์จริง ๆ ทีเดียว เพราะสมองของเขาในทางจินตนาเรื่องเพื่อผลิตออกมาสู่ผู้อ่านนั้น ทำงานได้รวดเร็วไม่มีเหน็ดเหนื่อย มือของเขาที่เขียนเป็นตัวอักษรตามสมองบัญชา ดูราวกับเครื่องจักรที่ไม่รู้จักล้า ทำให้เขามีเรื่องส่งให้เจ้าของคณะเพลินจิตต์ได้เกือบวันละเรื่อง เจ้าของคณะนั้นตะลุยพิมพ์เป็นพิเศษ เพราะว่าเป็นเรื่องที่ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำ เหนือกว่า นักประพันธ์ของชาวคณะคนอื่น ๆ นอกจาก " ไม้เมืองเดิม " ซึ่งเขียนได้ช้ากว่าอย่างเป็นม้าแข่งก็ทิ้งกันจนไม่เห็นหลัง แต่เป็นที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ที่เรื่องของเขาเป็นที่ต้องการของ ผู้พิมพ์ขายอย่างสูงสุด เพราะขายได้ดีที่สุดเมื่อพิมพ์ออกวางตลาด แต่เขากลับได้ค่าเรื่องต่ำกว่านักประพันธ์คนอื่น ๆ เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้จากน้องสาวของเขา ซึ่งเป็นเพื่อนภริยาข้าพเจ้า และตัวเขาเองก็เป็นเพื่อนเสมือนพี่ของภริยาข้าพเจ้าด้วย เพราะเหตุที่เรื่องของเขาถูกกดราคาอย่างน่าเศร้าใจ เขาจึงเอาจำนวนมากของเรื่องที่ผลิตออกมาเข้าช่วย เพื่อให้มีรายได้ มากขึ้น เป็นเหตุให้เขาหมางใจกับข้าพเจ้ามาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยข้าพเจ้าถือเอาความเป็นผู้มีอาวุโสสูงกว่า ถือวิสาสะเขียนจดหมายไปถึงเขา ค่าที่ข้าพเจ้ากับเขาไม่รู้จักกันเป็นส่วนตัวมาก่อน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างฉกรรจ์ที่เขาถ่อมตัว เจียมใจ แล้วทึกทักเอาเองว่าเขาเป็น " นักประพันธ์ชั้นสวะ " จึงไม่ยอมคบหาสมาคมกับพวกนักประพันธ์ด้วยกันเอาเสียเลย ทั้งที่เรื่องของเขาขายดีเสมอด้วย เรื่องของ คุณโชติ แพร่พันธ์ ( ยาขอบ ) คุณเลียว ศรีเสวก ( นามปากกามาก จนข้าพเจ้าขี้เกียจเขียน ) และ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ( ไม้เมืองเดิม ) นักประพันธ์เรื่องขายดีที่สุดในสมัยนั้น มีเพียงสามคนเท่านี้เอง จดหมายของข้าพเจ้ามีข้อความเพียงสั้น ๆ ว่า " คุณปรีชา คุณอย่าทำเรื่องของคุณให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นหน่อยเลย " อันทำให้เขาเข้าใจเจตนาของข้าพเจ้าผิดไป ว่าข้าพเจ้าดูหมิ่นเรื่องของเขา ทั้งนี้ก็โดยที่ข้าพเจ้าขี้เกียจเขียนจดหมายยาว ๆ ถึงใครนั่นเอง เขาเลยโกรธไม่ย้อนถามมาว่า ที่ข้าพเจ้าว่าอย่างนั้น ข้าพเจ้าเจตนาอย่างไร เขาเลยไม่รู้เจตนาแท้จริงของข้าพเจ้าในตอนนั้น มารู้เอาก็ต่อเมื่อเขาอยู่ในสภาพตายทั้งเป็นแล้ว เพราะเจตนาที่แท้จริงของข้าพเจ้า ที่ไม่ต้องการให้เขาทำเรื่องให้เป็นอย่างสินค้าญี่ปุ่นนั้น ข้าพเจ้าต้องการให้เขาเรียกร้อง เจ้าของ คณะพิมพ์ให้ขึ้นค่าเรื่องของเขาให้สูงขึ้น อย่างที่เจ้าของคณะนายอุเทนได้ให้คุณเลียว ศรีเสวก มาก่อน แต่เขาไม่สนใจ ปล่อยให้ค่าเรื่องของเขาอยู่ใน "สุดแต่เจ้าของสำนักพิมพ์จะเมตตา" จนกระทั่งสิ้นชีวิต พระสงฆ์สวดอภิธรรมเจ็ดคืนที่วัดมกุฎ ตั้งแต่คืนวันที่ 25 กันยายน 2511 ในฐานะศพของนักประพันธ์ไส้แห้ง ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร เหลือเป็นมรดกให้แก่ลูกเมียเลย นอกจากชื่อเสียงเกียรติคุณ

เมื่อเขาก้าวเข้ามาสู่วงการประพันธ์ของไทยนั้น เขาเข้ามาในฐานะ " นักประพันธ์เรื่องรักโศก " ตามที่เรียก กันในสมัยนั้น ซึ่งก็ได้ครองตำแหน่งเป็นเอกแทน " ชาวเหนือ " ซึ่งเป็นรุ่นพี่ แล้วก็ทิ้ง "ชาวเหนือ " เสียลิบลับ เมื่อเทียบกันด้วยความนิยมของนักอ่าน ทำให้เจ้าของคณะพิมพ์ที่พิมพ์เรื่องของเขาร่ำรวยจนได้ชื่อว่า นายห้าง เมื่อเขาเปลี่ยนแนวมาเป็นเรื่องตลกที่มีชื่อว่า พล นิกร กิมหงวน ก็ทำเงินให้เป็นกอบเป็นกำแก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน และเมื่อเขาจับเขียนเรื่องโลดโผน หรือที่นิยมเรียกกันว่า " เรื่องบู๊ " คือชุด เสือดำ เสือใบ เรื่องชุดนี้ข้าพเจ้าได้รู้จากปากเจ้าของ สำนักพิมพ์ ที่พิมพ์ชุดนี้ของเขาขายว่า ได้กำไรสุทธิเป็นเงินรวมแล้วเกือบสามแสนบาท แต่เขาได้ค่าเรื่องซึ่งรวมทั้งสิทธิ์ด้วยเพียงสองหมื่นบาท เท่านั้นเอง ( จาก ถ้อยคำ ของ ป. อินทรปาลิต ที่ให้สัมภาษณ์ผู้แทนหนังสือพิมพ์ บางกอกไทม์ ) และเมื่อเขาหันมาเขียนเรื่องอีกแนวหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า ชุดศาลาโกหก ก็ทำเงินเป็นกอบเป็นกำให้แก่ผู้พิมพ์จำหน่ายอีกเช่นกัน

โดยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงกล้าบอกได้ว่า เขาเป็นผู้ประสบผลสำเร็จอย่างบรรเจิดที่สุดในวงการประพันธ์ ด้วยเรื่องที่หลุดออกมาจากสมองดุจเครื่อง คอมพิวเตอร์ และมือดุจเครื่องจักรของเขา เด่นอยู่ในความนิยมของนักอ่าน ทั้งวัยเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนวัยผู้ใหญ่มาตลอดเวลา 30 กว่าปี นับแต่ย่างเข้ามาสู่วงการประพันธ์ จนกระทั่งอำลาโลกไป และเขาก็เขียนเรื่อยมาจนกระทั่งจบเกมชีวิต เว้นระยะเพียง 3 เดือน ที่ต้องไปนอนในฐานะศพที่ยังมีลมหายใจ พอเคลื่อนไหวสังขารลุกนั่งได้บ้างแต่เดินไม่ได้ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

จากงานของเขา ที่ปรากฏในตลาด หนังสือเล่มเล็ก ราคาเยาไม่ขาดสาย ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเขาคงอยู่ดีกินดีเป็นแน่ ข้าพเจ้าเองรู้จักเขาก็แต่เพียงชื่อเท่านั้นเอง รูปร่างหน้าตาก็ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ส่วนเรื่องราวส่วนตัว ก็รู้จากภริยาข้าพเจ้าที่รู้จักเขาอย่างสนิทสนมเมื่อวัยเด็ก และคุณมาลัยน้องสาวคนหนึ่งของเขาเท่านั้น ฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงแทบไม่เชื่อหูตนเองเมื่อคุณนรา พฤฒินันท์ เจ้าของโรงพิมพ์และสำนักพิมพ์ " มิตรนรา " บอกข้าพเจ้าเมื่อห้าเดือน ล่วงมาแล้วว่าอยากจะช่วยเหลือ ป. อินทรปาลิต ซึ่งป่วยหนักและจนกรอบ แต่การช่วยมีข้อแม้ว่า จะเป็นไปในทางซื้อเรื่องมาพิมพ์ขายโดยให้ราคาดี ข้าพเจ้าพอจะติดต่อให้ได้ไหม ข้าพเจ้ารับปากว่าได้ทันที ทั้งที่ไม่รู้ว่าจะไปติดต่อได้ที่ไหน คุณนราเองก็ไม่รู้ที่อยู่ ข้าพเจ้าเที่ยวถามใครต่อใคร จนสิ้นเวลาไปเกือบ สองเดือน จึงมีผู้บอกให้ไปพบคุณปรานี ภริยาเขาซึ่งเป็นลูกจ้างขายของ อยู่ที่ร้านแผงลอยร้านหนึ่ง ในบริเวณสถานีขนส่งสายใต้ ข้าพเจ้าตรงลิ่วไปที่นั่นทันที แต่ไม่พบคุณปรานี แต่ก็ไม่เสียเที่ยว เจ้าของร้านข้างเคียงบอกว่า ขณะนี้เขาป่วยหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึกสิงหเสนีย์ ข้าพเจ้าออกจากนั้นก็ตรงไปโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และพอมองปราดไปเห็นสารรูปของเขาที่นอนอยู่บนเตียงของโรงพยาบาล ข้าพเจ้าก็บอกแก่ตัวเองว่า เขาต้องตายแน่ และจะในไม่ช้านี้ด้วย ข้าพเจ้าถามถึงอาการป่วยของเขาแล้ว โดยสันดานที่ไม่ชอบพูดอะไรอ้อมค้อม ข้าพเจ้าบอกถึงความประสงค์ที่มาพบเขาทันที ซึ่งทำให้เขาน้ำตาคลอและข้าพเจ้าก็ได้รู้จากปากของเขาเองว่า ในวงการประพันธ์และหนังสือพิมพ์ มีผู้ที่เหลียวแลเขาเพียง คุณธิดา บุนนาค คุณสนิท เอกชัย แล้วก็ข้าพเจ้าเป็นคนที่ 3 นี่เท่านั้น และเมื่อข้าพเจ้าถามถึงฐานะ การเงินของเขา ก็ได้รู้ว่าลำพังตัวเขาเองแล้วไม่มีทางมาอยู่โรงพยาบาลได้เลย ที่มาอยู่ได้ก็โดยอนุเคราะห์ของพวกญาติพี่น้อง กับเพื่อนฝูงที่อยู่นอกวงการประพันธ์ ซึ่งต่างก็มีฐานะเบี้ยต่อไส้ด้วยกันทั้งนั้น คุณปรานีภริยาของเขา ซึ่งเช่าบ้านอยู่ที่ซอยอัพภันพนา ถนนจรัลสนิทวงศ์ ต้องทำห่อหมกไปขาย เมื่อไปทำงานในฐานะลูกจ้างขายของที่สถานีขนส่งสายใต้ ข้าพเจ้าไม่รู้สึกสลดในข้อนี้ เพราะข้าพเจ้าเอง บางวันก็มีกิน อย่างคนธรรมดาเขากินกัน บางวันก็ต้องกินอย่างพระหรือขอทาน ตามปรกติในความเป็นอยู่ บ้านที่อยู่อาศัยก็เป็นบ้านเช่าที่มีขนาดไม่พอแมวดิ้นตาย ข้าพเจ้าชินชาต่อความยากแค้น เสียแล้ว ข้าพเจ้ามาร้อนใจตรงที่เขาบอกว่า จะต้องกลับไปอยู่บ้านตอนสิ้นเดือนนี้ เพราะไม่มีเงินค่าห้องค่ายา ต้องรบกวนญาติพี่น้องมามากนักแล้ว ไปอยู่บ้านเอายาไปกิน มันหมดเปลืองน้อยหน่อย แล้วก็พอจะบอกเรื่องให้หลานชายช่วยเขียนแทนเอาไปขายได้บ้าง ข้าพเจ้านึกอยู่ในใจว่า ไอ้ที่ตายน่ะตายแน่ละ แต่การกลับไปอยู่บ้าน เป็นต้องช่วยเร่ง การตายให้เร็วขึ้นแน่เท่านั้น ความรู้สึกในจิตใจของข้าพเจ้านั้น ไม่ว่าใครทั้งนั้น เมื่อเป็นคนดี มีประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง ข้าพเจ้าต้องการให้เขาตายช้าที่สุดที่จะช้าได้ ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงต้องการให้เขาได้ อยู่รับการเยียวยาของแพทย์ที่ โรงพยาบาลต่อไป มันจะอยู่ต่อไปได้ก็ด้วยเงิน แล้วทำอย่างไรเล่า ข้าพเจ้าจึงจะช่วยให้เขามีเงินได้ รักษาตัวอยู่ในโรง พยาบาลต่อไป

ข้าพเจ้าลาเขามาแล้ว ก็ติดต่อกับคุณนราทันที ได้รับคำตอบว่าต้องรอไปอีกหน่อย เพราะขณะนั้นบังเอิญเงินขาดมือ ข้าพเจ้าจึงวิ่งไปสำนักพิมพ์หลายแห่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก คุ้นเคยขอให้ช่วยรับซื้อเรื่องที่เขาเขียนลงตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มาก มารวมพิมพ์เป็นเล่ม แต่ไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจาก สำนักใดเลย วิ่งไปทางสมาคมหนังสือพิมพ์ และสมาคมนักหนังสือพิมพ์ ก็ไม่มีทางสำเร็จอีก เพราะเขาไม่ได้เป็นสมาชิก ข้าพเจ้าจึงขอร้องเพื่อนฝูงใน วงการประพันธ์ คนหนึ่ง พอได้เงินมา ก้อนหนึ่งแล้วก็รีบนำไปให้เขาในทันที

นอกจากจะสละเงินส่วนตัว จำนวนซึ่งยากที่ใครจะสละให้กันง่าย ๆ โดยไม่ได้รับอะไรตอบแทนแล้ว ยังให้ข้อคิดแก่ข้าพเจ้าว่า ต่อไปสภาวะเช่นนี้ยังจะมีกันอีกเรื่อย ๆ เพราะอาชีพการเขียนหนังสือขายกิน จะมีผู้ยึดถือกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แล้วในที่สุดบางคนอาจจะตกอยู่ในฐานะคนยากไร้ จำต้องมีสถาบันให้ความ สงเคราะห์โดยตรงเกิดขึ้น อย่างที่พวกฝรั่งเขามีกัน ดังที่คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้นำมาเขียนเล่าไว้ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับประจำเดือนมิถุนายน - สิงหาคม 2511

บัดนี้สถาบันที่มีวัตถุประสงค์สงเคราะห์นักเขียนก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในฐานะ ทุนเสฐียร โกเศศ และอยู่ในระหว่างยื่นขออนุญาตจากทางราชการเพื่อเป็นมูลนิธิ โดยมี หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง ฉะนั้นถ้าหากการเขียนถึง ป. อินทรปาลิต นี้ข้าพเจ้าได้รับค่าตอบแทน ทุกบาททุกสตางค์ข้าพเจ้าขอมอบสมทบทุน " เสฐียรโกเศศ " เพื่อเพื่อนนักประพันธ์ที่ต้องประสบเคราะห์กรรม ต้องยากไร้ อันจะมีมาในวัน ข้างหน้าอีกอย่างไม่ต้องสงสัย



ยศ วัชรเสถียร จากหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.