Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

บรรยากาศการบรรยายทางวิชาการ




"หัสนิยาย พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต กับจิตสำนึกของคนไทย"

วันนั้นตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2543 เวลา 9.00 - 12.00 น. มีกลุ่มคนประมาณ 90 ชีวิต หลากหลายกลุ่มอายุ มารวมตัวกันที่ห้องประชุมศูนย์สารสนเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมฟังศาสตราจารย์ ดร. วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ท่านอาจารย์ที่พวกเราสมาชิกชมรมนักอ่านสามเกลอรู้จักและได้ยินชื่อเสียงมานาน บรรยายเรื่องราวตามหัวข้อที่กล่าวไว้ข้างต้นตามคำเรียนเชิญของคณะบรรณาธิการวารสารมนุษย (MANUSYA: Journal of Humanities) ผู้จัดงานนี้ขึ้น

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพว่าความจริงแล้วข้าพเจ้าซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชมรมฯ ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะมาร่วมงานนี้แต่เช้าตรู่เพื่อซึมซับบรรยากาศตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ต้องพลาดอย่างจังเมื่อปรากฏว่าตอนเช้าวันนั้นมีธุระสำคัญพอดี เป็นผลให้กว่าจะกระเสือกกระสนมาถึงงานได้ ปาเข้าไป 9.15 น. (งานเริ่มไปแล้ว) และกว่าจะทักทายผู้คนที่รู้จักแถวหน้างานอีกเล็กน้อยก็เสียเวลาไปอีก 10 นาที สรุปว่าข้าพเจ้าได้เข้าไปร่วมนั่งฟังการบรรยายจริงๆ ก็ประมาณ 9.30 น. เห็นจะได้ อย่างไรก็ตามโชคดีที่สุดที่มีเพื่อนสมาชิกท่านหนึ่ง ช่วยแนะนำข้าพเจ้าเอาบุญว่าบรรยากาศก่อนการเริ่มงานเป็นอย่างไร เขาบอกข้าพเจ้าว่าก่อนการเริ่มงานคือระหว่างที่มีการลงทะเบียน มีการเปิดเพลงต้อนรับผู้มาร่วมงาน ซึ่งเพลงดังกล่าวเป็นเพลงเพื่อชีวิตของวงมาลีฮวนน่าด้วย แต่เผอิญว่าเพื่อนสมาชิกคนนี้ก็จำชื่อเพลงม่ายล่ายเหมือนกัน งั้นเอาเป็นว่าจะขอใช้สิทธิ์ในการเปลี่ยนคำถาม เอ๊ย ขอรายงานถึงบรรยากาศในงานเลยก็แล้วกัน แต่ว่าที่แน่ๆ ก็คือต้องขอเรียนให้ท่านทั้งหลายทราบก่อนว่าข้าพเจ้าไม่ใช่นักจับใจความที่ดีนัก เพราะฉะนั้นอาจมีบางประเด็นที่หลุดไปหรือรายงานได้ไม่ชัดเจน ซึ่งต้องขออภัยเป็นอย่างสูงไว้ด้วย (ความจริงอายมากๆ ที่ต้องมารายงานบรรยากาศครั้งนี้ให้ฟัง เพราะเชื่อมั่นว่าต้องมีผู้ที่มาร่วมงานในวันนั้นที่มีความสามารถในการรายงานมากกว่าข้าพเจ้าอยู่หลายท่านเหลือเกิน)

ท่านอาจารย์วิชิตวงศ์บรรยายเรื่อง พล นิกร กิมหงวนฯ ให้พวกเราฟังตามประเด็นที่อาจารย์ภาวรรณ หมอกยา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาอังกฤษ ที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกรของงานตั้งคำถามขึ้น คือ มีการตั้งประเด็นเรียนถามท่านเป็นข้อๆ และท่าน ก็บรรยายไปตามนั้น เท่าที่ข้าพเจ้าจับใจความได้ก็คือ มีการถามประเด็นแรกว่า พล นิกร กิมหงวน และ ป. อินทรปาลิต คือใคร จากนั้นก็มีประเด็นอื่นๆ เช่น ผลงานเรื่องพล นิกร กิมหงวน เป็นบันทึกวิวัฒนาการของสังคมไทย และสะท้อนให้เห็นทัศนคติของคนไทยในยุคสมัยนั้น (ช่วง พ.ศ. 2482 - 2512) รวมทั้งทัศนคติของคุณ ป. เองที่มีต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น มีการเสนอแนวคิดเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยบ้างหรือไม่ คุณ ป. สะท้อนความคิดของตนในเรื่องชนชั้น และเชื้อชาติในสังคมไทยอย่างไร เป็นต้น นอกจากนี้ก็คือมีการตั้งคำถามว่า ผลงานเรื่องพล นิกร กิมหงวน ได้ปลูกฝังอุปนิสัยอย่างไรให้แก่คนไทยบ้าง ซึ่งในกรณีนี้ท่านอาจารย์วิชิตวงศ์ท่านก็ได้บรรยายไว้ทั้งอุปนิสัยที่ดีและไม่ดีให้พวกเราได้ฟัง

ท่านอาจารย์บรรยายให้พวกเราฟังว่าท่านเริ่มอ่านพล นิกร กิมหงวน มาตั้งแต่ตอนที่ท่านเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธฯ โดยสามเกลอตอนแรกที่ท่านอ่านก็คือตอน "นักบินจำเป็น" ประมาณช่วงต้น พ.ศ. 2484 ซึ่งจะต้องแอบอ่านเนื่องจากคุณครูที่โรงเรียนห้ามอ่าน แต่เผอิญอ่านแล้วติดใจก็เลยอ่านมาเรื่อยๆ มีความประทับใจกับผลงานเรื่องนี้เป็น 2 ช่วง คือ ตอนวัยเด็กที่อ่านแล้วก็รู้สึกสนุก ตลกขบขัน การอ่านในวัยนี้ทำให้ท่านซึมซับอุปนิสัยต่างๆ จากตัวละครโดยไม่รู้ตัว เช่น การไม่ชอบการข่มเหงรังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า เป็นต้น สำหรับความประทับใจเมื่อตอนที่ท่าน เติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็คือ งานเรื่องพล นิกร กิมหงวน ทำให้ท่านเห็นวิวัฒนาการของสังคมไทย และจัดเป็นบันทึกวิวัฒนาการของสังคมไทยอย่างที่ไม่ปรากฏในหนังสือชุดไหน เนื่องจากพล นิกร กิมหงวน เป็นการบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในรายละเอียด หากอยากรู้ว่าสภาพบ้านเมือง ถนนหนทาง ราคาสินค้า ค่าเงิน หรือการใช้ชีวิตของผู้คนในฐานะต่างๆ เป็นอย่างไร ก็จะทราบได้จากสามเกลอ

คุณค่าอื่นๆ ที่ได้รับจากงานเรื่อง พล นิกร กิมหงวน ที่เห็นได้ก็คือ มีการปลูกฝังให้คนไทยมีความรักชาติ มีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ลำบากเดือดร้อน ไม่ดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ต่ำกว่าตน ไม่ถือยศถือเกียรติ ซึ่งสังเกตได้จากการสร้างตัวละครที่เป็นเจ้านายที่มียศฐาบรรดาศักดิ์ขึ้นมามีบทบาทในการดำเนินเรื่องสามเกลอ นอกจากนี้ยังมีการปลูกฝังการวางตัวและกริยามารยาทที่เหมาะสมสำหรับเด็กไทยที่พึงมีต่อผู้ใหญ่ รวมทั้งการปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการให้ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดยการสร้างตัวละครที่สำคัญมากคนหนึ่งของเรื่อง คือ ดร. ดิเรก ณรงค์ฤทธิ์ ทั้งหมดที่กล่าวมาจัดเป็นการปลูกฝังอุปนิสัยที่ดี ส่วนข้อที่ไม่ดีก็อาจได้แก่ เรื่องการดื่มสุรา เป็นต้น ที่กล่าวมาเป็นประเด็นหลักๆ ที่ข้าพเจ้าจับใจความได้และคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญของการบรรยายในวันนั้น ส่วนประเด็นอื่นที่มีการบรรยาย เท่าที่สติปัญญาของข้าพเจ้านึกได้ ก็คือ แนวคิดเรื่องผู้หญิงไทยที่มักหึงหวงสามีของตน และผู้ชายไทยที่ กอ ลอ สระ อัว ภรรยา ว่าเป็นแนวคิดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นได้จากวรรณกรรมเรื่องสามเกลอเช่นกัน นอกจากนี้ผลงานเรื่องสามเกลอก็สะท้อนให้เราเห็นด้วยว่า สังคมไทยมีความกลมเกลียวกันของเชื้อชาติต่างๆ มาช้านาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างชาวไทยกับชาวจีน รวมทั้งชาวอินเดีย

บรรยากาศในวันนั้นจบลงที่ประเด็นเรื่องคุณค่าทางภาษาที่ได้จากงานเรื่องสามเกลอ เช่น คำศัพท์ วลี และสำนวนต่างๆ ที่ได้จากภาษาที่คุณ ป. ใช้ในการประพันธ์ พร้อมกับประเด็นเรื่องความเป็นอมตะของวรรณกรรมเรื่องสามเกลอว่าจะยังคงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานเท่าใดและวรรณกรรมเรื่องนี้จะไปอยู่ที่ตรงไหนของสังคมไทย ในการนี้ก็เลยมีตัวแทนจากชมรมนักอ่าน สามเกลอรายงานไปเรียบร้อยว่าเรามีชมรมนักอ่านสามเกลออยู่ที่นี่ www.samgler.org และก็มี เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสามเกลออยู่มากมาย ซึ่งสร้างความสนใจแก่ผู้ร่วมงานได้ไม่น้อยเลย ข้าพเจ้าก็ไม่มีอะไรจะโกหก เอ๊ย รายงานท่านผู้อ่านอีกแล้ว เอาเป็นว่าท่านผู้ใดที่สนใจจะทราบรายละเอียดเพิ่มเติมก็ลองฟังเทปการบรรยายดู หรือไม่ก็อดใจรอบทความของท่าน อ. วิชิตวงศ์ ที่คณะบรรณาธิการวารสารมนุษยจะนำพิมพ์ลงในวารสารฉบับต่อไป คือ ฉบับที่ 7 (Vol. 4 No. 1 March 2001) ก็ได้ ตามแต่ท่านสะดวก และสุดท้ายนี้ข้าพเจ้าก็ขอขอบคุณท่านผู้อ่านมา ณ โอกาสนี้ด้วย

กวาง





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.