Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

"กิมหงวน" เป็นไทยแท้หรือไม่?





ที่มา: หนังสือ "ศิลปวัฒนธรรม" เมษายน 2536 เขียนโดย ดร. เกษียร เตชะพีระ
  สนับสนุนข้อมูลโดย คุณเริงไชย พุทธาโร
  ตีพิมพ์บน Internet โดยไม่ได้รับอนุญาติ เพื่อการศึกษา
พิมพ์โดย: Webmaster

คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กับคุณสุพจน์ แจ้งเร็ว แห่งกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม สมคบกันพาผมไปเลี้ยงข้าวเลี้ยงเบียร์จนมึนได้ที่ แจกถังขยะหรูให้ใบหนึ่ง ปฏิทิน ( สุภาพ ) แผ่นหนึ่ง แถมหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คให้อีกเล่ม แล้วบอกว่า

" เลือกเอาเกษียร เขียนบทความให้ศิลปวัฒนธรรมชิ้นนึงหรือไม่ก็จ่ายค่าเหล้ามา "

เป็นใคร ใครก็เลือกอย่างแรกอยู่แล้ว

หนังสือที่ผมได้รับแจกมา เขียนโดย ป. อินทรปาลิต ชื่อว่า " เกิดสำเพ็ง " ( สำนักพิมพ์ผดุงศึกษา, 2529 ) เป็นตอนหนึ่งของหัสนิยายยอดฮิต เรื่อง พล นิกร กิมหงวน ชุดวัยหนุ่ม

" เด็กห้าร้อย " รุ่นผมซึ่งเกิดกึ่งพุทธกาลพอดีนอกจากโตขึ้นมากับนมวัวผง แผ่นเสียง โทรทัศน์ขาวดำ ยอดมนุษย์ เนาย่า ไอ้มดแดง แล้วก็มี พล - นิกร - กิมหงวนนี่แหละเป็นเพื่อนใจ

ผมอ่าน "เกิดสำเพ็ง " ด้วยความคล่องแคล่วแบบรวดเดียวจบ เข้าทำนองวัวเคยขาม้าเคยขี่ สำนวนแบบนี้เคยหูตั้งแต่เด็ก เนื้อเรื่องเป็นความพยายามอันดันทุรังของ " กิมหงวน ไทยแท้ " มหาเศรษฐีลูกจีนที่จะพิมพ์อัตชีวประวัติเรื่อง "เกิดสำเพ็ง " ออกมาขายชิงรางวัลโนเบิลไพร้ส์สาขาวรรณคดี

ผมอ่านไปยิ้มไปหัวเราะไปตามมุขตลกของคุณ ป. เพียงแต่ว่ามาบัดนี้พอชักแก่ตัวลง แก่วิชาขึ้น หัดสังเกตขึ้นตามที่ครูสอน ก็ทำให้รสขำขันชักจะกร่อยลงไป เพราะอดอุตริอ่าน " เกิดสำเพ็ง " แบบวิชาการบ้างไม่ได้

อ่านแบบหลังก็ให้รสชาติอร่อยแปลกไปอีกอย่าง ผมจะลองเล่าให้ฟัง

ประเด็นแรก สำนักพิมพ์ผดุงศึกษาระบุปีพิมพ์ครั้งแรกของ " เกิดสำเพ็ง " ไว้ตรงเชิงอรรถหน้าลิขสิทธิ์ว่าเป็นระหว่าง พ.ศ. 2473 - 2493 และเจาะลงไปอีกทีตรงหน้า 1 ว่า เป็น พ.ศ. 2488

อ่านจบแล้ว ผมออกจะเห็นด้วยกันคุณสุพจน์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่มันจะพิมพ์ปี 2488 ด้วยสาเหตุ 2 ประการ

1.ในหน้า 6 ป.อินทรปาลิตให้ ดร.ดิเรก ณรงค์ฤิทธิ์ จีเนียสผู้จบ อ๊อกซ์ฟอร์ด เห่อฝรั่งแต่บ้าอินเดีย แซวตำรวจเอาไว้ ด้วยภาษาไทยคำอังกฤษคำแขก( เทียม )คำ ตามบุคลิกว่า

" ออไร๋น์ ออไร๋น์ ควรจะเป็นอย่างนั้น สุภาษิตอินเดียบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ... ทะราวะกินหนา อาตุอุม ปะราวดี กะโหฮินดู แปลเป็นไทยว่า ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ " แล้วดิเรกก็ขมวดคิ้วย่น " โน - โนๆ แปลผิดไป แปลว่า หลายๆคนทำงานได้สำเร็จผลเร็วกว่าคนๆเดียว "

ข้อความที่ยกมาไม่มีทางจะเขียนขึ้นได้ก่อนเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2491 เมื่อพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ถูกคณะรัฐประหารส่งเข้าไป " ปฏิวัติ " กรมตำรวจ ในตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีฝ่ายปราบปราม กระทั่งพรวดขึ้นเป็นอธิบดีหลังจากนำกำลังตำรวจร่วมปราบปรามกบฏแมนฮัตตันสำเร็จในปี พ.ศ. 2494 ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพราะคำพูดที่ว่า " ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ " เป็นคำขวัญของตำรวจอัศวินแหวนเพชรยุคคุณเผ่าครองเมือง

2. การที่ ป. อินทรปาลิต ตั้งชื่อเรื่องว่า " เกิดสำเพ็ง " และผูกเรื่องให้กิมหงวนเขียนอัตชีวประวัติออกพิมพ์ขาย เป็นไปได้ว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหนังสืออัตชีวประวัติอันลือลั่นร่วมสมัยเรื่อง " เกิดวังปารุสก์ " ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2493

ก็ในเมื่อเจ้าลูกครึ่งฝรั่งยังเขียน " เกิดวังปารุสก์ " ได้ เสี่ยลูกครึ่งเจ๊กจะเขียน " เกิดสำเพ็ง " บ้างจะเป็นไรมี

อย่าว่าแต่เด็กชายปรีชา อินทรปาลิต กับเด็กชายพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ก็เคยเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกชั้นเตรียมรุ่น พ.ศ. 2463 เดียวกันมา

จึงอาจเดาได้ว่า " เกิดสำเพ็ง " น่าจะพิมพ์หนแรกภายในปีเดียวกันหรือหลังจากนั้นมิช้ามินาน

หนังสือ "เกิดสำเพ็ง" ของกิมหงวน ชวนให้นึกถึงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์ออกมาเร็วๆ นี้ ได้แก่ " บันทึกความจำ " ของ คุณเทียม โชควัฒนา ผู้ล่วงลับ

ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะกิมหงวนเปิดจุดขายอัตชีวประวัติของเขาออกมาที่หน้า 14 ว่า

" บ๊ะแล้ว...พูดยังงี้มันดูถูกกันนี่หว่า หน็อยเรื่องที่เขียนโดยมหาเศรษฐีขายได้ 10 เล่มมันก็ผิดไปละวะ แกมันไม่รู้จักอะไร หนังสืออย่างนี้แหละประชาชนกำลังนิยมอ่านเพราะอ่านแล้วได้ประโยชน์ได้ความรู้ กันเขียนกลเม็ดการค้าไว้มาก ใครอยากรวยเหมือนกันอ่าน " เกิดสำเพ็ง" แล้วจะมีช่องทางร่ำรวยตั้งหลายทาง คนที่รวยอยู่แล้วก็จะรวยขึ้นอีก เป็นต้นว่าวิธีทำให้ตลาดการค้าปั่นปวน วิธีกักตุนสินค้า วิธีหาเงินแสนล้านจากการซื้อขายทองคำ วิธีส่งข้าวสารออกนอกประเทศ และอะไรต่ออะไรอีก กันเป็นพ่อค้าใหญ่กันรู้ดี..."

เนื้อถ้อยกระทงความว่ากันไปแล้วก็ไม่ต่างจากคำโฆษณา "บันทึกความจำ" ของคุณเทียม บนกล่องใส่หนังสือของสำนักพิมพ์ดอกหญ้าเท่าไหร่นัก ดังที่เอ่ยอ้างไว้ว่ามรดกความคิดหนา 1,600 หน้า ของยอดนักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ชุดนี้อาจมีค่าสำหรับวงการธุรกิจไทยมากกว่ามรดกนับแสนล้านบาทที่ท่านมอบไว้ให้ลูกหลานนับพันเท่า

แต่ชะตากรรมของหนังสือสองเล่มนี้กลับแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน

ด้วยความเชื่อมั่นใน "จุดขาย" ของสินค้าตัวนี้บวกกับ ultra - egoism กิมหงวนวางแผนจัดพิพ์ "เกิดสำเพ็ง" หนา 40 ยก แบบปกแข็งเย็บกี่เดินทองเป็นจำนวนถึง 50,000 เล่มเพื่อวางตลาดในราคาเล่มละ 20 บาท

คงต้องขอเปรียบเทียบให้เห็นสักเล็กน้อย ว่าสมัยต้นทศวรรษ 2490 นั้น ค่าแรงจับกังในบางกอกตกวันละ 20 บาท ข้าวสารราคาตกถังละ 30 บาท หนังสือพิมพ์รายวันฉบับละ 50 สตางค์ - 1 บาท นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับละ 1 - 2 บาท รายเดือนชั้นดีฉบับละ 4 บาท หนังสือปกอ่อนขนาดธรรมดาเล่มละ 2 - 5 บาท

ส่วนหนังสือที่จะมีราคาสิบกว่ายี่สิบบาทขึ้นไปก็ต้องเป็นชนิดปกแข็งเดินทองมีกระดาษสอดสีอาบน้ำมันทับอีกชั้นหนึ่ง เช่น "สงครามชีวิต" ของศรีบูรพา หนา 12 ยก ราคา 15 บาท, " ข้าพเจ้าได้เห็นว่า" ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หนา 50 ยก ราคา 25 บาท , นิตยสารอักษรสาส์นรวมเล่มปีละ 12 ฉบับ เฉพาะค่าเย็บปก 30 บาท หรือ History of the Communist Party of the Soviet Union ปกแข็งวางขายที่ร้านต้าจ้งอุ๋นฟ้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีน สาขาสยามแถวสามแยก ราคาเล่มละ 20 บาท เป็นต้น

แต่นี่เราไม่ได้กำลังพูดถึงนักเขียนบรมครูอาวุโสหรือตำราภาษาอังกฤษชั้นดีที่ไหน หากแต่เป็นนักเขียนโนเนมผู้ไม่เคยตีพิมพ์งานเขียนมาก่อนสำบัดสำนวน "จะเป็นสารคดีก็ไม่ใช่ เรื่องตลกก็ไม่เชิง" ( คอมเมนต์ของเจ้าคุณปัจจนึกฯ หน้า 41 ) ได้แต่ " ยกย่องตัวเองตลอดเรื่อง บางตอนก็โกหกอย่างบรม เขียนไม่ได้สติแค่นจะเขียนกับเขาด้วย" แถมเคล็ดลับในการหาเงินที่อวดอ้างไว้ก็ได้แก่ "แนะนำให้ขายฝิ่นเถื่อน" ( เสียงด่าจากผู้อ่านหน้า 52 - 3 ) เป็นต้น

มองให้กว้างออกไป เราไม่ควรลืมว่าเมื่อกิมหงวนเขียน " เกิดสำเพ็ง" เมืองไทยมีผู้รู้หนังสืออายุเกิน 10 ปีแค่เกือบ 7 ล้านคน มีคนชั้นกลาง( นักวิชาชีพ ,นักบริหาร,พ่อค้า,เสมียน) เพียงราว 9 แสนคน และมีรายได้ประชาชาติราว 2 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่เมื่อบันทึกความทรงจำของคุณเทียม ตีพิมพ์ออกมาสองปีก่อน มีคนไทยอายุเกิน 10 ปีที่รู้หนังสือกว่า 40 ล้านคน มีคนชั้นกลางในความหมายกว้างเกือบ 5 ล้านคน และทวยไทยมีรายได้ประชาชาติสิริรวมประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

แถมคุณเทียมยังมี คุณเธียรชัย ลาภานันต์ คอยช่วยบันทึกแต่งเกลาสำนวนให้อีกเล่า

เรื่องของเรื่องจึงลงเอยว่า "บันทึกความจำ" 3 เล่มจบ ชุดละ 650 บาท ของคุณเทียมแห่งเครือสหพัฒนพิบูลขายดิบขายดีจนต้องตีพิมพ์ซ้ำในปีถัดมา ส่วน "เกิดสำเพ็ง" ราคาเล่มละ 20 บาท ของเสี่ยหงวนแห่งห้างศิวิลัยซ์พานิชนั้น...

พิมพ์งวดแรก 5,000 เล่ม ไม่เพียงแต่ขายไม่ออก ร้านรวงบอกคืน มิหนำบางคนที่หลงคารมโฆษณาลงทุนซื้อหาไปยังตามมาโยนหนังสือคืน แถมชี้หน้าด่าผู้เขียนให้ถึงโรงพิมพ์อีกด้วย

จนเสี่ยหงวนงัดไม้เด็ดประกาศเชิญชวนซื้อหนังสือเล่ม 1 เล่ม แถมธนบัตรสอดไส้ใบละ 100 บาทหนึ่งฉบับ นั่นแหละคนนับพันจึงแห่มาแย่งเหยียบกันซื้อจนโรงพิมพ์วินาศสันตะโร

ประเด็นสุดท้ายถูกจุดขึ้นในวงเหล้ายาปลาปิ้ง ได้แก่ปัญหา "ความเป็นจีน" ของกิมหงวนไทยแท้นั้นเอง แน่นอนนี่เรากำลังพูดถึงตัวละครในนิยายที่ผู้ประพันธ์นฤมิตรขึ้นจากจินตนาการให้เป็น "จีน"

ปมเงื่อนจึงอยู่ที่ว่า ผู้ประพันธ์ใช้กลเม็ดเด็ดพรายอย่างไรในการแต่งเติมตัวละครตัวนี้ให้มีความสมจีน (Chinese - effects) จริงจังขึ้นมาในสายตาผู้อ่าน

กลเม็ดแรกก็คงจะได้แก่ชื่อ "กิมหงวน ไทยแท้" ของเขา

ผมบังเอิญจำได้ว่าแรกเริ่มเดิมที คุณป. อินทรปาลิต ไม่ได้ตั้งชื่อสกุลหมอนี้ว่าอย่างนี้ กลับไปเปิดอ่าน "ป. อิทรปาลิต ชีวิตของคนขายฝัน" ของคุณเริงไชย พุทธาโร เช็กดูที่หน้า 109 ก็พบว่าชื่อสกุลเดิมของเขาคือ "สงวน ไทยเทียม" มาเปลี่ยนใหม่เป็น "กิมหงวน ไทยแท้" ทีหลัง

ทั้งสองชื่อสกุลล้วนเป็นยี่ห้อฟ้องบอกความเป็นจีนด้วยกลเม็ดตั้งชื่อสกุลให้มีนัยขัดกันเอง กล่าวคือ อันแรกชื่อ "สงวน" เหมือนคนไทยแต่ดันเป็น "ไทยเทียม" ส่วนอันหลังชื่อ "กิมหงวน" แบบคนจีนแต่ดันอ้างว่าเป็นคน "ไทยแท้" เสียฉิบ

ทว่าแง่มุมลุ่มลึกของชื่อสกุลทั้งสองมีความต่างระดับกันอยู่

"สงวน ไทยเทียม" แจ้งความคนอ่านให้รู้เท่าทันคนจีนที่พยายามพรางตัวตบตา (phony & deceit) ให้สมไทยด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็นไทย ส่วน "กิมหงวน ไทยแท้" มีนัยลึกกว่าเพราะมันฟ้องถึงความรู้สึกผิดและปมด้อย (guiltiness & inferiority complex ) ที่ดันเกิดมาเป็นจีนภายในจิตใจเนื่องคนผู้นั้นซึมซับรับเอา (internalized) คติชาตินิยมไทยคับแคบที่ดูถูกเชื้อชาติอื่นที่ไม่ไช่ไทย รวมทั้งเชื้อชาติจีนของตัวเองเข้าไปเต็มคราบเสียแล้วจึงตั้งสกุล "ไทยแท้" ไว้ชดเชยความรู้สึกผิดและปมด้อยที่มากับชื่อ "กิมหงวน" ของตน

เข้าทำนอง "ถึงกูจะชื่อกิมหงวนแต่กูจะเป็นไทยให้แท้ยิ่งกว่าคนไทยเสียอีก" (ultra-Thai-ism)

พูดอีกอย่างได้ว่า ชื่อ "สงวน ไทยเทียม" บ่งบอกความพยายามสร้างเอกลักษณ์ปลอม (false identity) ส่วนชื่อ "กิมหงวน ไทยแท้" กลับส่อให้เห็นถึงวิกฤตเอกลักษณ์ (crisis of identity ) ในตัวเจ้าของชื่อทีเดียว

ผมสันนิษฐานว่าประสบการณ์ทางจิตใจและวัฒนธรรมดังกล่าวนี้ คนจีนในไทยจำนวนมากประสบพบเจอกันถ้วนทั่วหน้าในยุครัฐนิยมของจอมพลแปลก ทำให้พวกเขาต้องปรับตัวปรับเอกลักษณ์ใหม่ไม่ว่าจะด้วยจำใจหรือสมัครใจก็ตามเช่น

มีอดีตอภิมหานายธนาคาร - นักการเมืองท่านหนึ่ง [หมายเหตุของคุณเริงไชย - ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หรือ โค้วตงหมง] ซึ่งเดิมมีชื่อแซ่เป็นจีน และกำลังก้าวหน้าไปในอาชีพสอนหนังสือโรงเรียนจีน แต่มาเผชิญกับแรงกดดันรัฐนิยมเข้า ทำให้ท่านตัดสินใจปรับเปลี่ยนตัวสามอย่างคือ

1. เปลี่ยนชื่อแซ่จีนเป็นชื่อสกุลไทย
2. เปลี่ยนงานจากสอนหนังสือจีนเป็นรับราชการ
3. เข้าเรียนเอาปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

จะเรียกทั้งสามอย่างนี้ว่าเป็นสามกระบวนท่าทำให้เป็นไทยหรือสมไทยแห่งยุคก็ว่าได้

ไม่ต้องพูดถึงความพยายามอย่างฉุนเฉียวที่จะอธิบายความหมายไทยแท้ของชื่อที่ฟังเหมือนจีนของตัวโดยผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินยุคใกล้

ยังมีอีกท่านหนึ่ง ศึกษาค้นคว้าโฆษณาเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีไทย จนกลายเป็นนักอุดมการณ์เอกแห่งลัทธิชาตินิยมไทยแบบต่อต้านจีน โดยที่เบื้องหลังราชทินนามของท่านนั้น ท่านมีชื่อตัวเดิมเป็นจีนและมีนามสกุลเป็นไทย เป็นต้น [หมายเหตุของคุณเริงไชย - หลวงวิจิตรวาทการ]

แต่เอาเข้าจริงๆ "กิมหงวน" มีความสมจีนแค่ไหน?

นอกจากชื่อแล้ว ป. อินทรปาลิต สร้าง "ความสมจีน" ให้กิมหงวนด้วยการสร้างเตี่ย "กิมเบ๊" และอาแปะ "เจ้าสัวกิมไซ" ให้เขา ให้ทั้งสองค้าขายร่ำรวยแต่ "พูกไทยไม่ชัก" ให้กิมหงวนเกิดสำเพ็ง เรียนโรงเรียนซินหมิน ถนนบำรุงเมือง หน้าโรงเลี้ยงเด็กเล็ก (ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนจีนดีที่สุดของเมืองไทยก่อนสงครามโลก มีศิษย์เก่าเช่นคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์, คุณบุญชู โรจนเสถียร เป็นต้น ) และอัสสัมชัญ คอลเลจ อ่านเขียนและพูดภาษาจีนได้ มีประสบการณ์ตลาดการค้าที่ฮ่องกง สิงคโปร์ ปีนัง ก่อนจะมาเป็นผู้จัดการห้างศิวิลัยซ์พานิชแถวพาหุรัดซึ่งเตี่ยตั้งให้ ฯลฯ

อย่างไรก็ตามที หากเราพินิจดูอุปนิสัยสันดานของกิมหงวนตามที่ ป. อินทรปาลิต ปั้นแล้วก็ต้องบอกว่ามันไม่สมจีนสมเจ๊กสักเท่าไหร่เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง "เขี่ยมเสียบ" หรือความประหยัดมัธยัสถ์ กับ "เกี่ยเห่า" หรือความกตัญญูกตเวที

ทั้งสองข้อแทบจะเรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติ และคุณธรรมของจีนอพยพในเมืองไทย ซึ่งพร่ำอบรมบ่มสอนและประพฤติเป็นแบบอย่าง ให้ลูกจีนหลานจีนในครัวเรือนตั้งแต่อ้อนแต่ออก หลายคนนึกถึงตำนานที่ร่ำลือเล่าขานกันมาประเภทเสื่อผืนหมอนใบ, กินข้าวต้มแกล้มกรวดคั่วเกลือ, นิทานยี่จับสี่ห่าว ( ยี่สิบยอดกตัญญู) ได้ Lynn Pan นักเขียนสตรีชาวอังกฤษเชื้อสายจีนกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ "Sons of the Yellow Emperor : The Story of the Overseas Chinese" (1990) อันโด่งดังของเธอว่า

"ถ้าเอาธรรมเนียมโลกตะวันตกเป็นบรรทัดฐาน ก็ต้องถือว่าการทุ่มเทอุทิศตัวให้กับพ่อแม่ของชาวจีนนั้นสาหัสสากรรจ์เกินขนาดถึงขั้นเพี้ยน แต่สำหรับธรรมเนียมจีน ความกตัญญูกตเวทีการเคารพยำเกรงพ่อแม่เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ การบูชาเซ่นสรวงดวงวิญญาณของ ท่านเมื่อท่านสิ้นไปแล้ว ต้องถือว่าเป็นหัวใจแบบแผนสังคมจีนเลยทีเดียว ...( หน้า 10)

"การคอยดูแลพ่อแม่เมื่อแก่เฒ่า แสดงความเสียใจไว้อาลัยท่านอย่างถูกธรรมเนียมเมื่อสิ้นชีวิตลง เซ่นสรวงไหว้ศาลบรรพบุรุษ เยี่ยมเคารพสุสานตระกลูตามพิธี เหล่านี้ถือเป็นหน้าที่หลักต่อพ่อแม่ของคนเรา " (หน้า 21 )

หรือเอาใกล้ๆ ตัว ดู "ลอดลายมังกร" เป็นตัวอย่างขนาดเถ้าแก่อาเหลียง สือพาณิชย์ ร่ำรวยอื้อจือเหลียงอย่างงั้นยังกินอยู่แต่งตัวเขี่ยมเสียบ เรียบๆ ง่ายๆ ตลอดชีวิตและชาญชัยหลานคนโปรดที่ว่าร้ายแสนร้ายเลวสุดเลว ก็ยังยอมมอบตัวให้ตำรวจเพื่อจะได้มาอยู่กับก๋งตอนสิ้นใจ

สำหรับเสี่ยหงวนน่ะหรือ? ฟุ่มเฟือยก็เท่านั้น ใช้เงินทิ้งๆ ขว้างๆ เหมือนเศษกระดาษกล่าวเฉพาะใน " เกิดสำเพ็ง" ก็ยอมแถมเงินเป็นแสนๆ ให้คนซื้อเพื่อ "ขาย" หนังสือ ส่วนความกตัญญูกตเวที - ไม่มีเสียล่ะ ตามอัตชีวประวัติของเสี่ย กะอีแค่ขัดใจที่เตี่ยไม่ยอมให้แต่งงานกับนวลละออ และแอบยุให้เลิกกันต่อมา เขาก็ถึงแก่อาฆาตมาดร้ายจะเอาตะไกรขาเดียวบ้าง ปืนพกบ้างไปฆ่าแกงเตี่ยเยี่ยงทรพี (หน้า 36 - 40)

ดูแล้วก็ไม่เหมือนเจ๊กเหมือนจีนตรงไหน

แต่หลักฐานชี้ขาดที่ทำให้ผมฟันธงลงไปว่ากิมหงวนเป็นจีนปลอมก็คือชื่อ " กิมหงวน" " กิมเบ๊" "กิมไซ" ที่ป. อินทรปาลิต ตั้งให้นั่นเอง

เพราะถึงแม้ชื่อทั้งสามจะฟังคล้องจองเหมือนเป็นญาติเกี่ยวดองกันดี แต่ความจริงตามธรรมเนียมจีนนั้นเวลาเปลี่ยนชื่อแซ่เป็นไทยเขาจะเปลี่ยนเอาแซ่จีนไปเป็นนามสกุลไทย ส่วนชื่อตัวก็อาจจะเปลี่ยนเป็นไทยด้วย หรือมิฉะนั้นก็คงเดิมเป็นจีนไว้ เช่น

เดิมแซ่ "แต้" ชื่อตัวว่า "โต๊ะฮง" ก็เปลี่ยนแซ่ "แต้" เป็นนามสกุล "เตชะพีระ"กลายเป็น "โต๊ะฮง เตชะพีระ" ทำนองเดียวกับ "กิมเหลียง วัฒนปฤดา" ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงวิจิตรวาทการ

จนกว่าจะเปลี่ยนชื่อตัวจาก " โต๊ะฮง" มาเป็น " เกษียร" แล้วนั่นแหละถึงจะได้ชื่อสกุลไทยสมบูรณ์ว่า " เกษียร เตชะพีระ"

นั่นหมายความว่าในกรณีเสี่ยหงวนนี้ ตามเหตุผลข้างต้น " กิมหงวน" ย่อมต้องเป็นชื่อตัวส่วนแซ่ถูกเปลี่ยนไปเป็นนามสกุล "ไทยแท้" แล้ว

เท่าที่ทราบไม่ปรากฏชัดว่าแซ่จีนเดิมของเสี่ยหงวนคืออะไร แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร บุคคลผู้นี้ก็ไม่ใช่แซ่ "กิม" ชื่อตัวว่า "หงวน"เด็ดขาด

เมื่อ "กิม" ไม่ใช่แซ่และ "กิมหงวน"ทั้งสองคำเป็นตัว ก็สันนิษฐานต่อได้ว่า " กิมเบ๊" และ"กิมไซ" ก็ย่อมเป็นชื่อตัวของเตี่ยกับแปะของกิมหงวนเช่นกัน

ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ผิดธรรมเนียมจีนอีกนั่นแหละ

เพราะปกติการตั้งชื่อตัวให้คล้องจองกันโดยมีอักษรตัวหน้าเป็นคำเดียวกัน ชาวจีนจะทำเฉพาะลูกหลานผู้ชายรุ่นเดียวกันเท่านั้น ไม่ทำข้ามรุ่นเด็ดขาด รุ่นใหม่ก็นึกอักษรตัวใหม่นำไปจะได้ไม่ปนรุ่นจำสับกัน ยกเว้นลูกสาวซึ่งจะมีชื่อแหวกรุ่นออกไปต่างหากไม่ต้องคล้องจอง เช่น

รุ่นพ่อชื่อตัวว่า "เง็กชิว" "เง็กซ้ง"

รุ่นลูกชื่อตัวว่า "โต๊ะฮง" "โต๊ะอุ้ย" "โต๊ะเฮ้า" แต่ลูกสาวชื่อ "หลี่กุง" เป็นต้น

ถึงขั้นนี้ การที่ ป. อิทรปาลิต ให้รุ่นพ่อชื่อตัว "กิมเบ๊" "กิมไซ" แล้วยังมาให้รุ่นลูกชื่อตัวว่า "กิมหงวน" อีกจึงไม่สมจีนอย่างฉกาจฉกรรจ์

สรุปได้ว่าถึงแม้กิมหงวนจะอ่านเขียนพูดภาษาจีนได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นจีนแท้ เพราะคนที่อ่านเขียนพูดภาษาจีนได้คล่อง แต่ไม่มีเชื้อจีนเลยก็มีถมไป เช่น คุณสุพจน์ แจ้งเร็ว เป็นต้น

ต่อคำถามว่า " กิมหงวนใช่ไทยแท้หรือไม่?" จึงต้องตอบว่าน่าจะใช่ เพราะเขาไม่ใช่จีน

ส่วนที่คันหัวใจใคร่รู้ต่อก็คือเมื่อกิมหงวนใช่ไทยแท้แล้ว คุณสุจิตต์ล่ะ ใช่วงษ์เทศหรือเปล่า ?





All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.