ขอแรงหน่อยครับ
Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

กระดานสนทนาสามเกลอ (Read Only)



ขอแรงหน่อยครับ
สวัสดีครับ ผมมีเรื่องขอแรงชาวสามเกลอหน่อยครับ คือตอนนี้ผมมีความคืดที่อยากจะลองเขียนหนังสือ ผมถนัดด้านประวัติศาสตร์ สังคม วัฒธรรม อาศัยว่าเป็นโรคติดหนังสือเรื้อรังครับ แต่ไม่เคยเขียนครับ อยากลองเขียนบทความที่เกี่ยวกับเรื่องที่ถนัด หรือนิยายย้อนยุคแต่ ผมเริ่มไม่เป็นน่ะครับ เลยอยากขอแรงผู้มีควาทรู้ทางภาษาหน่อยครับ ช่วยแนะนำการเริ่มต้นหน่อยครับ และถ้ามีผลงานออกมาแล้วขอแรงแฟนนานุแฟนช่วยอ่านและแนะนำด้วยนะครับ จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ
ท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตรและพระบารมีของล้นเกล้าล้นกระหม่อมทุกพระองค์จงดลบันดาลให้แฟนนานุแฟนสามเกลอทุกท่านมีแต่ความสุขสวัสดี พระยาชำนาญการณรงค์
โดยคุณ : พระยาชำนาญการณรงค์ - [ 19 ต.ค. 2544 , 2:05:16 น. ]

ตอบ
ได้สิครับผมก้อชอบเหมือนกันเรื่องที่คุณว่า แต่ไม่เก่งมากนักแค่ชอบอ่านหนะ และตอนนี้เล่น chat ก้อเปิดห้อง #หน้าประวัติศาสตร์ ด้วยนะครับ ว่าง ๆ ก้อไปช่วยกันเฝ้าหน่อยนะ เผื่อมีคนคอเดียวกัน ชอบเหมือนกันหน่ะ ครับ
โดยคุณ : อินทรีแดง - [ 19 ต.ค. 2544 , 2:48:35 น.]

ตอบ
คัดลอกจาก http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/index.html

"คู่มือนักเขียน


10 ขั้นตอนที่ควรรู้ก่อนก้าวเข้าหา บ.ก.บงกช"

นักเขียนมือใหม่ ใจร้อนหลายคนอยากเห็นผลงานรวมเล่มของตนเร็วไว จึงหันหน้าออกจากระบบเข้าหาหนังสือมือทำ เขียนเอง วาดภาพประกอบเอง เป็น บ.ก.เอง ลงทุนเอง และใช้มือทำเอง...ขอแค่ให้มีคนอ่านผลงานนอกจากตัวเองก็พอใจแล้ว

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของจิตวิญญาณนักเขียน

สุขใดไหนจะเท่า...ได้เห็นผลงานของตัวเองเป็นรูปเล่มสวยงาม วางผงาดบนแผงหนังสือ

สุขใดไหนจะเท่า...ได้รับเช็คล่วงหน้า 3 เดือนค่าลิขสิทธิ์

ดังนั้นการที่สำนักพิมพ์ตกลงซื้อต้นฉบับของนักเขียนเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือ จัดจำหน่ายอย่างเป็นระบบ จึงเป็นฝันที่ยิ่งใหญ่ของนัก (เริ่ม) เขียนทุกคน

แล้วจะเริ่มต้นอย่างไรล่ะ?

เป็นคำถามที่นัก (เริ่ม) เขียนทุกคนไขว่คว้าหาคำตอบ

เรามีให้คุณแล้ว

เราไม่ได้รับประกันว่าหากคุณทำตามแล้วต้นฉบับของคุณจะกลายเป็นหนังสือ แต่ทั้งหมดนี้เป็นขั้นตอนที่ บ.ก.ทุกคนคาดหวังจากคุณก่อนที่ต้นฉบับของคุณจะมากองแอ้งแม้งบนโต๊ะทำงานของเขา

1.เขียนหนังสือ

หากคุณยังไม่ได้เขียนหนังสือสักเล่ม นี่ก็ไม่ใช่เวลาที่คุณจะมาถามว่าทำอย่างไรเรื่องของคุณจึงจะได้รับการตีพิมพ์ บ.ก.สนใจแต่ผลงานไม่ใช่แค่ความคิด บ.ก.ต้องการความมั่นใจว่าคุณมีทักษะในการเขียน มีความอดทน และมีวินัยที่จะเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งจนเสร็จสมบูรณ์

2.นิยามกลุ่มเป้าหมายของคุณ

หนังสือของคุณเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ใครคือกลุ่มที่คุณต้องการให้อ่าน นี่คือคำถามที่ บ.ก.จะถาม การตอบคำถามเหล่านี้ได้จะช่วยให้คุณเลือกสำนักพิมพ์ที่เหมาะสมได้ หากหนังสือของคุณเป็นนวนิยายก็ต้องตอบให้ได้ว่ามันจัดอยู่แนวไหน

3.สำรวจตลาด

สิ่งที่แย่ที่สุดคือการโทรศัพท์ไปหา บ.ก.สักคนแล้วถามว่าเขาสนใจหนังสือของคุณไหม คุณต้องสำรวจดูว่ามีสำนักพิมพ์ไหนบ้างที่พิมพ์หนังสือแนวเดียวกับที่คุณเขียน เดินสำรวจตามร้านขายหนังสือ จดรายชื่อสำนักพิมพ์ที่น่าจะเข้าได้ดีกับหนังสือของคุณ เช่น หากคุณเขียนวรรณกรรมเยาวชน แน่ล่ะ คุณต้องตรงไปเสนอเรื่องให้ บ.ก.ที่สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เป็นต้น

4.ทำการบ้านของคุณ

ค้นหาสำนักพิมพ์ที่เชื่อถือได้ในวงการ ที่นั่นคุณจะได้พบที่อยู่ของสำนักพิมพ์ หรือ บ.ก.ที่คุณต้องการติดต่อด้วย

5.เตรียมต้นฉบับ

ทุกวันนี้ บ.ก.ส่วนใหญ่จะไม่เหลียวแลต้นฉบับที่ขาดการตระเตรียมมาอย่างมืออาชีพ ควรพิมพ์ผลงานด้วยกระดาษสีขาวหน้าเดียว หากเป็นลายมือควรเขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย และเว้น 2 บรรทัด

6.ส่งต้นฉบับ

ต้นฉบับหนาปึกอาจเย็บเล่มให้เรียบร้อยหรือติดตัวหนีบให้แน่นหนา จ่าหน้าซองให้ถูกต้องว่าจะส่งให้ใครอ่าน ปิดผนึกให้แน่น แต่อย่าให้ถึงขนาด บ.ก.ต้องเสียเวลา 20 นาทีเพื่อแกะซอง

7.แนบแสตมป์ด้วย

หากคุณต้องการทราบผลการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ให้แนบไปรษณียบัตรจ่าที่อยู่ตัวเองไปด้วย บ.ก.ที่ไหนๆ ก็ไม่ใจจืดใจดำทำเมินเฉยกับคุณหรอก หากคุณเตรียมพร้อมให้เขาถึงขนาดนี้ และถ้าหากคุณต้องการให้เขาส่งต้นฉบับที่ถูกปฏิเสธคืนละก็ คุณต้องแนบซองติดแสตมป์ไปด้วย

8.ตั้งหน้าตั้งตารอ

อาจใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน หรือหลายๆ เดือนกว่าจะทราบชะตากรรมของผลงาน คุณอาจหว่านผลงานไปยังสำนักพิมพ์หลายแห่งเพื่อเพิ่มโอกาส

9.ก้มหน้าก้มตาเขียน

ขณะรอฟังผลพิจารณาของต้นฉบับชิ้นแรก รู้นะว่าคุณแสนจะกระวนกระวายใจแค่ไหน จงเริ่มต้นเขียนงานชิ้นต่อไป หรือเขียนงานชิ้นเล็กๆ ประเภท บทความหรือเรื่องสั้น ปกิณกะต่างๆ เพื่อฝึกฝีมือให้แกร่ง และเป็นการเสริมสร้างชื่อเสียง

10.อย่ายอมแพ้

หากต้นฉบับไม่ผ่านการพิจารณา จงเพียรพยายามต่อไป ลองส่งไปยังสำนักพิมพ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้ส่ง ของพรรค์นี้ต้องใช้เวลา และความพากเพียร

จงจำไว้ว่านักเขียนที่ประสบความสำเร็จคือนักเขียนผู้ไม่ยอมแพ้ !!!! ๐

********************

เป็นคอลัมน์ประจำที่เพิ่งออกอากาศไปราวสองครั้งนะคะ และคงมีต่อเนื่องไปอีก
หาอ่านได้จากเว็บ http://www.bangkokbiznews.com/
ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ส่วนแยก"จุดประกายวรรณกรรม" คอลัมน์คู่มือนักเขียนค่ะ

โดยคุณ : ิborn - [ 19 ต.ค. 2544 , 13:06:46 น.]

ตอบ
คัดลอกจาก http://www.bangkokbiznews.com/jud/wan/20011001/page30.html
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับเสาร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๔ ส่วนจุดประกายวรรณกรรม
คอลัมน์คู่มือนักเขียน


สุดยอด 8 วิธีในการเริ่มต้นการเขียน

1. เริ่มต้นบันทึกความฝัน

บางส่วนของฉากที่ดีที่สุดหรือวรรคทองต่างๆ มักจะโผล่พรวดจากจิตไร้สำนึก

หากคุณมิใช่ประเภทที่ดีดตัวขึ้นมาอย่างกระฉับกระเฉงจากที่นอนเพื่อบันทึกความฝันที่พอจะจำได้ตอนกลางดึกแล้วล่ะก็

ขอแนะนำให้ซื้อเครื่องบันทึกเทปราคาถูกๆ ไว้ซักเครื่อง แล้วก็นอนเล่าฉากความฝันที่ยังคงประทับใจนั้นไว้อย่างสะลึมสะลือ

แต่แม้หากคุณมิอาจจดจำความฝันที่ผ่านพ้นมาได้แม้แต่สักนิด คุณอาจอาศัยข่าวหรือบทความจากหนังสือพิมพ์มาเป็นตัวกระตุ้นการแต่งเรื่องของคุณก็ได้ หรืออาจนำความฝันมาถักทอรวมกับชิ้นส่วนของเรื่องราวต่างๆ แล้วพัฒนามาเป็นโครงเรื่อง ตัวละคร หรือความคิดในการเขียนสารคดีก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น

2. เขียนบันทึกประจำวัน

การเขียนบันทึกประจำวันเป็นหนึ่งในวิธีที่วิเศษที่สุดของการสู้รบกับอาการเขียนไม่ออก

อย่าเขียนอย่างเคร่งเครียดหรือเข้มงวดนัก อย่าลืมว่าไม่มีใครมาแอบอ่านอยู่ข้างหลังคุณหรอก เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องไวยากรณ์ วรรคตอน หรือย่อหน้า

จงตั้งสติ สำรวจ ตรวจสอบและเขียนอย่างซื่อสัตย์เกี่ยวกับสิ่งที่คุณกำลังรู้สึกหรือมีประสบการณ์ ความโกรธ ความเศร้าเสียใจ ทำไมมันจึงเกิดขึ้น คุณไม่จำเป็นต้องกำหนดความยาวของบันทึก แต่ควรสัญญาไว้กับตัวเองว่าจะเขียนอย่างสม่ำเสมอ อาจจะทุกวัน ทุกๆ อาทิตย์ หรือทุกๆ เดือน

ขอเพียงให้ทำตามสัญญาละกัน !

นอกจากนี้การนั่งลงเขียนบันทึกประจำวัน ถือเป็นการวอร์มร่างกายก่อนการจะเขียนบทที่ 1 ได้เป็นอย่างดี !

3. หาซื้อตำราตั้งชื่อเด็ก

การซื้อตำราตั้งชื่อเด็กไว้สักเล่ม ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คุณตั้งชื่อตัวละครได้เท่านั้น แต่ยังช่วยกระตุ้นจินตนาการได้อีกด้วย ในแต่ละสัปดาห์เลือกชื่อในตำรามาสักชื่อหรือสองชื่อ แล้วลองคิดว่าชื่อนั้นเป็นตัวละครตัวหนึ่ง อาศัยความประทับใจที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเอ่ยหรือคิดถึงชื่อนั้นๆ เช่น คนที่ชื่อพิณทองควรมีหน้าตาอย่างไร มีนิสัยอย่างไร ใครเป็นพี่น้องของเธอ พี่น้องของเธอควรชื่ออะไรกันบ้าง หรือทำไมเธอจึงชื่อนี้ เป็นต้น

4. สร้างพลังการสังเกต

หากคุณไม่ใช่คนช่างสังเกต ก็จงหัดเป็นซะ เริ่มสำรวจ สืบค้นบุคลิกท่าทีของผู้คนในแต่ละวัน บันทึกอุปนิสัยต่างๆ ที่สามารถเอามาใช้กับตัวละครได้ ไม่เพียงเฉพาะผู้คนเท่านั้น ควรเก็บเกี่ยวจดจำสิ่งแวดล้อม เครื่องหมาย ตลอดจนสัญลักษณ์ต่างๆ ด้วย เพราะคนเรามักมีท่าทางต่างกันไปเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ต่างกัน

คุณสามารถหลอกผู้อ่านให้เชื่อว่ามีเมืองสมมติเมืองนี้จริงๆ ด้วยการอาศัยข้อมูลการสังเกตที่บันทึกเอาไว้

5. ระดมความคิด

การระดมความคิดเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการบริหารเซลล์สมองให้ฝึกคิด ให้เวลา 5 นาที จดทุกคำที่ผุดขึ้นมาจากจิตใจ หรือพิมพ์ลงไปมากเท่าที่ทำได้ภายในเวลาที่กำหนด และอย่าหยุดเขียน

เมื่อเสร็จขั้นตอนแรกแล้ว ต่อไปให้เวลา 10 นาที อ่านแต่ละคำที่คุณเขียนลงไป เขียนคำแรกสุดที่ออกมาจากใจเมื่อคุณกลับไปอ่านตั้งแต่ตอนเริ่มต้น นึกถึงความประทับใจหรือความรู้สึกใดๆ ก็ตามที่คุณได้รับจากคำคำนี้ เมื่อเวลาหมด ลองศึกษาถ้อยคำเหล่านี้อีกครั้ง มันอาจเป็นแก่นเรื่องหรือตัวละครบ้างก็ได้

คุณอาจเล่นเกม " อะไรจะเกิดขึ้นถ้า" กับคำแต่ละคำ หรือจับคู่คำเหมือนเข้าด้วยกัน หรือจับคู่คำตรงข้าม มันอาจเป็นที่มาของโครงเรื่องหรือตัวละครก็ได้

6. ตัดๆ ให้ขาด !

ตัดภาพ รูปถ่าย พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้คุณตะลึงหรือสะดุดใจ เก็บรวบรวมไว้ในกล่องและสุ่มหยิบขึ้นมา 5 ชิ้น นำมาปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราว ด้วยการถามตัวเองว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร

7. ให้เวลาพักผ่อนหนึ่งวัน

สัก 1 วันใน 1 สัปดาห์ ให้เวลาตัวเองเขียนอะไรก็ได้เพื่อความสนุกสนาน

จงลืมกำหนดส่งงาน จดหมายส่งต้นฉบับ ฯ

จงนึกถึงแต่ความบันเทิง ฉวยปากกา กระดาษ ( งานนี้คอมพิวเตอร์ไม่เกี่ยว ) ทำจิตใจให้ว่างเปล่า ปลดปล่อยจินตนาการให้โลดแล่นไปอย่างเสรี เขียนอะไรลงไปก็ได้ โดยมีคุณเท่านั้นที่เป็นคนอ่านผลงานชิ้นนี้

ประเด็นสำคัญของข้อนี้ก็คือ การช่วยขจัดแรงกดดันจากการเขียน ปลดปล่อยตัวตนภายในให้เบิกบาน และเติบโตไปในพรมแดนการเขียนที่คุณปรารถนา

8. พักผ่อน ไม่ต้องเขียนแล้ว !

บางครั้งคนเราก็เรียนรู้ที่จะทำด้วยการไม่ทำ

เลือกสัก 1 วัน เพื่อพักผ่อน ไปเดินเล่น ช็อบปิ้ง นั่งสมาธิ ให้สมองได้ว่างและซ่อมแซมรอยหยักที่สึกกร่อน

ลองนึกถึงว่าตัวเองเป็นนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ได้รางวัลซีไรต์ นึกถึงความรู้สึกเมื่อเห็นเช็คค่าเรื่อง

ให้จิตใจของเราเล่นกลกับด้านบวกทั้งหลายแหล่

ได้เห็นและรู้สึกถึงความภาคภูมิใจ ความมั่นใจ และการมองโลกในแง่ดีของตนเอง

คุณเป็นนักเขียน และกำลังทำในสิ่งที่คุณรักอย่างจริง

เพราะมีหลากหลายวิธีในการสร้างแรงบันดาลใจในการเขียนจนถึงกับผลิตเป็นหนังสือได้เลย ทั้ง 8 ข้อนี้จึงเป็นเพียงบางส่วนที่คุณสามารถทำได้ทุกวัน เพื่อต่อเติมจินตนาการและเสริมผลงานสร้างสรรค์ บางข้อคุณอาจทำแล้วได้ผล ในขณะที่อีกหลายข้อเปล่าประโยชน์

แต่หากแม้มีสักความคิดหนึ่ง ช่วยให้คุณได้พบแนวทางในการเป็นนักเขียนอย่างที่คุณต้องการ สิ่งนั้นคือรางวัลที่ยิ่งใหญ่สำหรับความพยายามในครั้งนี้๐

อ้างอิง :

EIGHT GREAT WAYS TO JUMP-START YOUR WRITING โดย BEV WALTON-PORTER





โดยคุณ : ิborn - [ 19 ต.ค. 2544 , 13:14:14 น.]

ตอบ
ขอบคุณครับสำหรับข้อแนะนำนะครับ แล้วผมจะนำไปปฎิบัติตามครับ แล้วถ้าผมจะเขียนเรื่องตัวเองในบอร์ดนี้จะเหมาะไหมครับ ผมไม่แน่ใจว่าจะเข้ากับเวบนี้เปล่า ถ้าไม่เหมาะช่วยแนะที่ลงด้วยครับ ขอบคุณครับ สวัสดี พระยาชำนาญการณรงค์
โดยคุณ : พระยาชำนาญการณรงค์ - [ 20 ต.ค. 2544 , 22:57:15 น.]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
ข้อความ




กรุณาคลิกที่ปุ่ม Post message เพียงครั้งเดียว 



All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.