เบิกเงินล่วงหน้า/ยาขอบ
Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

กระดานสนทนาสามเกลอ (Read Only)



เบิกเงินล่วงหน้า/ยาขอบ
copy again...จากจุดประกายวรรณกรรมกรุงเทพธุรกิจ/...อ่านเสร็จต้องนั่งอมยิ้มไปมา
นึกถึงภาพของนักเขียนในยุคนั้น ก็เลยอยากเผื่อแผ่ให้อ่านกันทั่วหน้า เชิญจ้ะ..(ตัดตอนมาบ้างนะ เพราะยาวมากกก)


บ้านสนามเป้า.... แหล่งผลิตวรรณกรรมลูกทุ่ง(18)
/มนู จรรยงค์

การเบิกเงินล่วงหน้าเป็นเรื่องธรรมดาของนักเขียนนักหนังสือพิมพ์ เพราะความขัดสนจนยาก หรือความเดือดร้อนอย่างว่า
ไม่ว่าที่ไหน สมัยใด ตอนผมอยู่หนังสือพิมพ์สยามรัฐหรือบ้านเมืองก็เบิกล่วงหน้า หรือยืมโรงพิมพ์กันทุกบ่อยจนเป็นประเพณี
สำหรับที่สยามรัฐถ้าหากเบิกล่วงหน้าก็แค่ให้ผู้จัดการเซ็นอนุมัติเท่านั้น แต่ถ้าหากยืมเงินโรงพิมพ์มักจะเป็นเรื่องใหญ่
ขนาดพ่อแม่เข้าโรงพยาบาลต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ก็ต้องยื่นเรื่องถึงผู้อำนวยการเพื่อขออนุมัติ ศัพท์ของชาวสยามรัฐเรียกว่า "ขายเรื่องสั้น"
เพราะข้อความขอยืมเงินโรงพิมพ์ถึงผู้อำนวยการใช้ข้อความสั้นๆ เพียงไม่กี่บรรทัดเท่านั้น พอผู้อำนวยการเซ็นอนุมัติ
ก็ลงไปเบิกกับผู้จัดการได้เลย .........

......เขียนมาตั้งนานผมยังไม่ได้กล่าวถึง "ยาขอบเบิกเงินล่วงหน้าค่าทำศพ" เลย เอาละครับขอเข้าเรื่องเสียที ตอนนั้นผมอายุประมาณ 11 ขวบ
เรียนจบ ป.สี่ โรงเรียนปิดเทอมใหญ่พอดี เห็นผมคล่องแคล่วกำลังใช้ พ่อก็เลยจับตัวผมส่งมาเรียนต่อที่ "อาศรมยาขอบ" เปล่า!
ไม่ได้ไปเรียนวิทยายุทธ์หรือวิชาอยู่คงกะพันกับ "ทิศาปาโมกข์" ท่านหนึ่งท่านใดหรอก แต่จงใจให้มาอยู่กับ "ยาขอบ" โดยตรง
เพื่อคอยวิ่งซื้อเหล้าให้ท่านเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเห็นว่าผมเชี่ยวชาญในการซื้อเหล้านั่นเอง ชนิดไหนปลอมไม่ปลอมดมก็รู้ทันที
"ยาขอบ" หรือ โชติ แพร่พันธุ์ ช่วงนั้นกำลังโด่งดัง จากบทประพันธ์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ มีสำนักพิมพ์ บริษัทสร้างภาพยนตร์
และหัวหน้าคณะยี่เกขอไปเล่นไปแสดงหรือไปตีพิมพ์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคณะหอมหวลที่วิกบางลำพูเอาเรื่องผู้ชนะสิบทิศ
ไปแสดงหลายคืนติดต่อกันโดยยังไม่ยอมจ่ายค่าเรื่อง "ลุงโชติ" หรือ "ยาขอบ" ก็เขียนจดหมายด้วยกระดาษสีชมพูให้ผมถือไปทวงถาม
ผมเดินถือจดหมายจากอาศรมยาขอบ ซึ่งตั้งอยู่ ณ โรงพิมพ์อักษรนิติ ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์สี่แยกบางขุนพรหม
แป๊บเดียวก็ถึงวิกบางลำพูเสียแล้ว ผมไปถึงตอนบ่ายๆ ยี่เกยังไม่ทันแสดง ผมปืนขึ้นไปบนเวทีแล้วก็เดินเข้าไปหลังโรง
อย่างสะดวกเพราะเขาชักรอกฉากขึ้นไปหมด มองเห็น "หอมหวล" หัวหน้าคณะนั่งถอดเสื้อพุงพลุ้ย ผิวค่อยข้างคล้ำเล็กน้อย
ผมยกมือไหว้แล้วก็ส่งจดหมายของ "ยาขอบ" ไปให้อ่าน "หอมหวล" อ่านแล้วก็พยักหน้า หงึกๆ พร้อมกับควักกระเป๋าหยิบเงิน
ใส่ซองมาให้ผม 100 บาท เป็นค่าเรื่อง ผมไม่รู้ว่ามากหรือน้อยเพราะไม่ทราบข้อตกลงกัน แต่ก็รู้ว่าเงิน 100 บาทมีค่ามากในสมัยนั้น
เพื่อนของผมขโมยเงินพ่อมาร้อยบาท ฝากผมไว้ ทำให้ผมนอนไม่หลับเลยทั้งคืนกลัวเงินหายไม่มีจะใช้เขา

ผมรับเงินจากหอมหวลก็เอามาให้ลุงโชติเลยทันทีไม่ได้เถลไถลไปไหน เงินนั้นแทนที่ลุงโชติจะเก็บใส่กระเป๋าหรือลิ้นชัก
หรือไว้ในที่ที่ปลอดภัยกลับเอาเงินนั้นมากองไว้บนโต๊ะกินเหล้านั้นเสียฉิบ ใครไปใครมาก็มองเห็น ยิ่งกว่านั้นมีบางคนมาขอ
หรือมาหยิบไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ ลุงโชติไม่ว่าอะไรแถมยังบอกว่า ใครมีธุระอะไรที่จำเป็นก็มาหยิบไปใช้ได้ ค่าเรื่องอื่นๆ ก็เหมือนกัน
เวลาลุงโชติรับเงินมาก็จะเอามากองไว้บนโต๊ะนี้เช่นเดียวกัน เพื่อนที่มีฐานะดีๆ บางคน มากินเหล้าแล้ว พอจะกลับเห็นเงินบนโต๊ะ
พร่องเขาก็จะเติมไว้ให้อีกในจำนวนที่มากพอสมควร ดูไปแล้วเหมือนกับเงินกงสี ไม่มีผิด ใครจะหยิบจะใช้จะซื้ออะไรกินย่อมได้ทั้งนั้น

ลุงโชติเป็นคนใจดี ใจคอกว้างขวางดุจแม่น้ำเจ้าพระยา หรือแม่น้ำโขงก็ไม่ปาน เพื่อนฝูงต่างรักน้ำใจของยาขอบทั้งนั้น
ความมีน้ำใจของ "ยาขอบ" นั้น คุณสด กูรมะโรหิต ได้เคยกล่าวไว้ว่า "ทุกคนในโลกนี้จะต้องมีเวลาที่สุกใสรุ่งเรืองที่สุดในชั่วชีวิตหนึ่ง
และชีวิตของ "ยาขอบ" ที่รุ่งเรืองที่สุด ก็คือ ยุคประชา-ชาติ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้น "ยาขอบ" มีเพื่อนฝูงเต็มเมือง ไปที่ไหนก็เกรียวกราวที่นั่น
เพื่อนทุกคนรักเขา เพราะเขาเป็นคนใจดี เรื่องใจดีของยาขอบนั้นผมสามารถเป็นพยานให้ได้ ยาขอบเป็นผู้ชอบให้ใครจะขออะไรให้ทั้งนั้น
เขาไม่ต้องการสะสมไม่ต้องการกอบโกย เขามีความสุขถ้าเขาจะให้อะไรแก่ใครได้
"แม้ตัวเองจะไม่มี (เช่นเงินเป็นต้น) ก็ต้องไปหามาให้จนได้ เขาจะไม่สบายใจ ถ้าเขาต้องปฏิเสธการให้ เวลาเขามีเงิน เช่นเวลาขายหนังสือร่ำรวย
เขาจะต้องรีบไปตามเพื่อนฝูงมาสนุกสนานเฮฮากัน กินกันจนนอนราบไป ตื่นขึ้นมาก็กินกันใหม่ บางคนนอนหลับจนกรนเสร็จแล้ว
ยังถูกยาขอบเอาเงินยัดใส่กระเป๋าให้เสียอีกด้วย เขาไม่มีนิสัยสะสมอะไร คนทั้งโลกเขาสะสมกัน บางคนก็สะสมมาก บางคนก็สะสมน้อย
แต่ยาขอบไม่สะสมเลย เขาไม่มีกิเลสในทางนี้ เขามีชีวิตอยู่ด้วยปรัชญาอันหนึ่ง ปรัชญานั้นก็คือ การให้คือ ความสุข"

มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ยาขอบ หรือ โชติ แพร่พันธ์ ทำงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์ ประชามิตร ซึ่งก็ตั้งอยู่บนโรงพิมพ์อักษรนิติเช่นเดียวกัน
โดยคุณชลอ รังควร เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยวิวัฒน์ ซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชามิตรสุภาพบุรุษ
ขณะเดียวกันก็เป็นกรรมการผู้จัดการโรงพิมพ์อักษรนิติพร้อมกันไปด้วย คุณชลอ รังควร เป็นผู้ที่ใจดี มีน้ำใจและโอบอ้อมอารีย์ รัก "ยาขอบ"
เหมือนกับลูกชายคนหนึ่งและยาขอบก็เรียกคุณชลอว่า "แม่" ยาขอบติดขัด หรือ ขัดสนในเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็จะไปขอเบิกได้จากคุณชลอ
อย่างง่ายดาย ตอนนั้นพ่อเป็นนักข่าวอยู่หนังสือพิมพ์ประชามิตรค่ายเดียวกันกับลุงโชติ และก็ตั้งวงกินเหล้ากันทุกเย็นบนชั้นสองหลังโรงพิมพ์
อักษรนิติที่เป็นบ้านหรือที่อยู่อาศัยของยาขอบ นั่นเอง

ระยะหลัง "ยาขอบ" การเงินฝืดเคืองค่อนข้างมาก แทบไม่มีเงินจะกองบนโต๊ะอยู่เลยลุงโชติต้องตัดสินใจเขียนจดหมายไปรบกวนคุณชลอ รังควร
อีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้ คุณชลอผู้มีคุณก็สั่งให้สมุหบัญชีจ่ายเงินมาให้อีกก้อนหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเท่าไหร่
พร้อมกับเขียนจดหมายสอดมาในซองเงินถึงคุณโชติ แพร่พันธ์ว่า "การเบิกเงินนั้น ฉันไม่เคยคิดเสียดาย
แต่เสียดายชีวิตของโชติมากกว่า เพราะโชติเอาเงินที่ให้นี้ไปซื้อเหล้ากินทุกครั้ง เป็นการบั่นทอนสุขภาพ
ต่อไปนี้จะไม่ให้อีกแล้ว ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไรก็ตาม จะให้อีกทีก็ต่อเมื่อตายเป็นค่าทำศพเท่านั้น" ลงชื่อ ชลอ รังควร

"ยาขอบ" ฉีกจดหมายออกอ่าน พร้อมกับหยิบเงินแยกออกวางไว้บนโต๊ะ นั่งซึมไปสักพัก แล้วก็เรียกผมให้ไปซื้อเหล้ามากินต่ออีก
เพราะมีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน หลายคน "ยาขอบ" ได้สั่งให้คุณประกายศรี ทำกับข้าวเพิ่มอีก
เหตุการณ์นั้น ก็ผ่านไปอีกหลายวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง "ยาขอบ" เกิดเดือดร้อนขึ้นมาอีก เนื่องจากเพื่อนจะออกจากโรงพยาบาล
ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่มีเงินจึงเขียนจดหมายให้ภรรยาของเขาถือมาหา "ยาขอบ" ถึงโรงพิมพ์อักษรนิติ
ยาขอบนั่งกุมขมับ เพราะพบทางตัน ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็เลยขอกระดาษกับปากกาจากแม่บ้านเขียนจดหมายถึง คุณชลอ รังควร
มีใจความว่า
"คุณแม่ครับ ผมกำลังเดือดร้อนมาก ขอเบิกเงินค่าทำศพล่วงหน้าหน่อยเถอะครับ ลงชื่อ "โชติ แพร่พันธ์" ‘



โดยคุณ : บอร์น - [ 3 ก.ค. 2544 , 16:28:26 น. ]

ตอบ
อ่านแล้วค่ะ
โดยคุณ : ละม่อม - [ 3 ก.ค. 2544 , 17:23:14 น.]

ตอบ
อ่านตั้งนานกว่าจะจบ
โดยคุณ : ตอแหลแมน - ICQ : 9455234 - [ 3 ก.ค. 2544 , 17:49:38 น.]

ตอบ
ขอเบิกค่าเปลี่ยนตับล่วงหน้ามั่งได้ป่าว?
โดยคุณ : samgler-aholic - [ 4 ก.ค. 2544 , 13:20:15 น.]

ตอบ
ขอบคุณค่ะ ทำให้รู้จักคุณยาขอบในอีกแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่เคยทราบเลย คนรุ่นปู่ย่าเราเนี่ยบางทีก็มีนิสัยที่คนในสมัยนี้ว่าแปลก แต่ในสมัยก่อนคนมีคุณธรรมไม่เห็นแก่ตัวมากเหมือนสมัยนี้ อย่างที่คุณเล่าว่าคนที่มีเงินก็จะสมทบเงินกองกลาง แต่ถ้าเป็นตอนนี้เหรอ ถามว่ามีอีกไหม ยังไม่พออ่ะ
โดยคุณ : เจี๊ยบstj - [ 4 ก.ค. 2544 , 16:12:13 น.]

ตอบ
อิอิ.. เอาไปใช้มั่ง..
โดยคุณ : หนูดล - [ 6 ก.ค. 2544 , 7:41:00 น.]

ตอบ
อ่านไปอ่านมาก็นึกถึง "โดราเอมอน" น่ะ
มีหลายตอนที่โนบิตะแก้ปัญหาโดยให้โดราเอมอนช่วย
โดยการหยิบยืมเงินของตัวเองในอนาคตมาใช้
เช่น เงินโบนัสตอนทำงาน ฯลฯ
แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับการสูญเสียโชคบางอย่าง ที่จะได้รับ ในอนาคตไป
แต่ก็ดีตรงที่ไม่เดือดร้อนคนอื่นนี่แหละ
โดยคุณ : บอร์น - [ 6 ก.ค. 2544 , 15:19:11 น.]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
ข้อความ




กรุณาคลิกที่ปุ่ม Post message เพียงครั้งเดียว 



All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.