รับประทาน...............แปลว่ากินหรือเปล่าครับ(ทำไมเจ้าแห้วใช้ตลอด)
Home Page
samgler connection members information discuss library misc. web board contact us

กระดานสนทนาสามเกลอ (Read Only)



รับประทาน...............แปลว่ากินหรือเปล่าครับ(ทำไมเจ้าแห้วใช้ตลอด)
คำว่า "รับประทาน" ที่เจ้าแห้วใช้นี่
เป็นคำพูดสุภาพในสมัยก่อนหรือไงครับ
ผมอ่านสามเกลอมาตั้งแต่เด็ก ถึงปัจจุบันนี้ก็เกือบสามสิบปีแล้ว
ยังไม่เข้าใจเลยครับ ว่าแปลว่าอะไรกันแน่
มีความหมายอื่นที่นอกจากแปลว่า "กิน" หรือเปล่า
หรือเจ้าแห้ว บ๊อง เลยใช้คำว่า "รับประทาน" แทนคำว่า "ประทานโทษ"
ใครทราบความหมายช่วยบอกหน่อยนะครับ......:D
โดยคุณ : สรสิทธิ์ - [ 10 ก.ค. 2543 , 22:51:15 น. ]

ตอบ
ตามรูปศัพท์คำว่ารับประทานแปลว่ากินน่ะถูกแล้วครับ แต่การใช้คำว่า "รับประทาน" เป็นคำพูดติดปากของเจ้าแห้ว ผมเข้าใจว่าเป็นการแสดงความ "สุภาพและถ่อมตน" ของผู้น้อยเมื่อพูดจากับเจ้านายของเขามากกว่าครับ ก็น่าจะมาจากคำว่า "ขอประทานโทษ" อย่างที่คุณตั้งขอสังเกตไว้ เจ้าแห้วจะไม่ติดคำว่ารับประทานเมื่อเขาพูดกับคนที่อยู่ระดับเดียวกันหรือต่ำกว่า
ธรรมเนียมการพูดอย่างนี้ จึงน่าจะถือเป็นการให้ความเครารพลำดับอาวุโสในสังคม ที่ ป. อินทรปาลิตให้ความสำคัญมากครับ
โดยคุณ : ขุนสุราบาล - [ 10 ก.ค. 2543 , 23:02:02 น.]

ตอบ
รับประทาน เดิมจริงๆ ไม่ได้แปลว่ากินเสียทีเดียวนะครับ แปลว่า รับสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้ เท่านั้นเอง ที่นี้ในกรณีที่สิ่งที่ได้รับมาเป็นของกินก็รับมาแล้วก็กินเสียเลย เรา รับประทานเลี้ยงอาหาร จึงแปลว่าเรารับ (=กิน) เลี้ยงที่ผู้ใหญ่เลี้ยงให้เรา เดี๋ยวนี้กรณีที่ผู้ใหญ่นั้นเป็นเจ้านาย ก็ยังใช้ว่าเรา รับพระราชทานเลี้ยงอาหาร
รับประทาน เพิ่งมาใช้แปลว่ากิน เมื่อรู้สึกกันว่าคำว่ากินไม่สุภาพสมัยหลังนี่เอง เลยเหลือคำว่า รับ ที่ลากให้แปลว่ากิน (จะรับอะไรดีคะ) กับคำว่า ทาน ที่ลากให้แปลว่ากินเหมือนกัน ที่จริงผมก็ยังไม่เห็นว่า กิน จะไม่สุภาพตรงไหน
รับประทาน ของเจ้าแห้ว เป็นคำเก่าสำหรับให้เกียรติผู้ใหญ่ท่านครับ มีความหมายโดยนัยถึงการพร้อมที่จะรับคำสั่งที่ท่านจะให้ลงมาครับ
เทียบกับคำขานรับหรือคำลงท้ายที่คนเก่าๆ พูดกับเจ้านายได้ว่า พระพุทธเจ้าข้าขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม (ไม่ว่าท่านจะสั่งยังไงลงมา รับมาใส่หัวหมด) คำนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ใหญ่ระดับสูงเป็นเจ้า ก็ลดลงมาหน่อยเป็น ขอรับ (ใส่) เกล้าผม และ ขอรับกระผม แล้วในที่สุดก็กร่อนเหลือเพียงคำว่าครับผม และคำว่าครับ - ครับผม!
ถ้าเป็นลุงแย้มพูดกับนาย รู้สึกคุณ ป. จะชอบใช้คำว่า แล้วแต่จะโปรดเถอะขอรับ
โดยคุณ : Apirat - [ 10 ก.ค. 2543 , 23:02:23 น.]

ตอบ
ชอบใจคำอธิบายเรื่อง "รับประทาน" มากครับ
มีอีกคำหนึ่งที่ใช้กันแต่ดูเหมือนปัจจุบันจะเลิกใช้แล้วคือคำว่า "ไม่เป็นไรมิได้ ขอรับ" ซึ่งดูเหมือนจะมีความหมายว่า ไม่เป็นไร แต่ถูกกร่อนลงไป ไม่ทราบว่าความเข้าใจของผมถูกต้องหรือไม่?
โดยคุณ : ขุนสุราบาล - [ 10 ก.ค. 2543 , 23:03:12 น.]

ตอบ
ผมก็ยังไม่แก่เท่าไหร่นะครับ เพียงแต่เคยอ่านผ่านตามา คงต้องรบกวนท่านผู้อาวุโสจริงๆ ตอบยืนยัน
ผมเข้าใจว่า คำว่า กิน เพิ่งรู้สึกกันว่าเป็นคำไม่สุภาพสมัย ร. 4 ร. 5
ส่วนไม่เป็นไรมิได้ ขอรับ นั้น แปลว่าไม่เป็นไร ถูกแล้วครับ เข้าใจว่าใช้ในช่วงนั้นเหมือนกัน ผมเข้าใจเอาเองว่า เป็นเรื่องของการมีหางเสียง ทอดเสียงไม่ให้ห้วน ไม่เป็นไร เฉยๆ ฟังห้วนๆ ไป (สมัยนี้เรายังต้องลงท้ายว่า ครับ ว่า ค่ะ เลย ไม่ให้ห้วนไงครับ) เลยต่อเป็น ไม่เป็นไรมิได้ ที่จริงแค่นี้ก็ฟังสุภาพแล้ว แต่ถ้าจะให้เกียรติอีกก็มีคำลงท้าย ขอรับ ต่อไปอีก
อาจจะเข้าใจผิดนะครับ
โดยคุณ : Apirat - [ 10 ก.ค. 2543 , 23:03:33 น.]

ตอบ
นึกดูก็สนุกดี คำลงท้ายว่า ครับ มาจาก ขอรับ และแต่เดิม ต้องรับใส่หัวใส่ผมเราด้วย คือ ขอรับใส่เกล้าผม - ขอรับกระผม - ครับผม และในสมัยปัจจุบัน ครับ ที่เป็นคำลงท้าย กับ ผม ที่เป็นคำแทนตัวสำหรับผู้ชาย
ส่วนผู้หญิง ผมพยายามนึกว่า ค่ะ/ขา /คะ มาจากไหน เดาเอาว่า มาจาก เจ้าข้า คำขานรับสมัยก่อน ที่มาเป็นเจ้าค่ะ แล้วก็ ค่ะ เฉยๆ เจ้าข้า นั้น ผมนึกว่า เดิม เป็นการเรียกท่านผู้ใหญ่ที่เราพูดด้วย ว่า ท่านเป็นเจ้าของเราผู้เป็นข้า (เทียบกับ ข้าเจ้า - ข้าพเจ้า ซึ่งเราใช้เรียกตนเอง แปลว่า ตัวเราผู้พูดซึ่งเป็นข้าของท่านที่เป็นเจ้านาย) พยานยังมีอยู่ที่คำ ข้าพระพุทธเจ้า คือตัวเราที่เป็นคนพูด เป็นข้าของกษัตริย์ ที่ยกให้เป็นพระพุทธเจ้า เวลาลงท้าย ก็เรียกว่า พระพุทธเจ้า (ของ) ข้า
แต่ทำไมจึงกลายมาเป็นเฉพาะผู้หญิงเท่านั้นที่พูด เจ้าข้า -> ค่ะ แล้วทำไมจึงเป็นผู้ชายเท่านั้นที่พูด ขอรับ - > ครับ ยังนึกไม่ออกครับ
รับประทาน นอกเรื่องสามเกลอไปหน่อยครับ
โดยคุณ : Apirat - [ 10 ก.ค. 2543 , 23:03:56 น.]

ตอบ
ไม่ได้แปลว่ากินแน่ๆและน่าสังเกตคือจะไม่พูดรับประทานกับเพื่อนคนใช้ คนที่ไม่ใช่นาย คนที่ต่ำกว่า
โดยคุณ : ออปิงตัน - ICQ : 40283449 - [ 14 ต.ค. 2543 , 17:52:42 น.]

ตอบ
รับประทาน คุณออปิงตันเห็นจะไม่ได้อ่านที่ท่านอธิบายไว้แล้วข้างบนกระมังครับ รับประทานก็ท่านอธิบายไว้ชัดแล้วว่า ไม่ได้แปลว่ากิน แต่เป็นคำรับ ใช้กับผู้ใหญ่ มีนัยว่าพร้อมรับคำสั่งที่ผู้ใหญ่จะสั่งลงมานี่ รับประทาน ครับ
โดยคุณ : วอเตอร์เชสนัท - [ 27 ต.ค. 2543 , 23:30:05 น.]

ตอบ
รับประทานคำนี้แห้วใช้เจ้านายเท่านั้นขอรับ รับประทานเข้าใจหรือยังขอรับ
โดยคุณ : แห้ว - [ 12 พ.ค. 2544 , 22:01:30 น.]

ขอเชิญร่วมเสนอแนะความคิดเห็นครับ
จาก :
email :
icq :
ข้อความ




กรุณาคลิกที่ปุ่ม Post message เพียงครั้งเดียว 



All contents in this web site are intended for private use and educational purpose only. Our main objectives are to promote SamGler to cyberspace surfers and to memorize Por Intalapalit, one of the greatest writers in Thai fiction history.